ปิดเมนู
หน้าแรก

ผู้ป่วยโรคไต เสี่ยงภาวะ “กระดูกพรุน”

เปิดอ่าน 47 views

ผู้ป่วยโรคไต เสี่ยงภาวะ “กระดูกพรุน”

ในผู้ป่วยโรคไต นอกจากจะมีอาการผิดปกติที่ไตแล้ว ยังอาจส่งผลไปถึงอวัยวะส่วนอื่นด้วย แต่หลายอาจไม่ทราบว่า โรคไตสามารถก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย 

ทำไมเป็นโรคไต ถึงเสี่ยงกระดูกพรุน?

รศ.ดร.พญ.ปวีณา สุสัณฐิตพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ไต เป็นอวัยวที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่และฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี และพาราไทรอยด์ฮอร์โมน เมื่อไตทำงานผิดปกติ จะทำให้มีการขับฟอสฟอรัสทางปัสสาวะ ลดลง มีการเพิ่มขึ้นของระดับฟอสฟอรัสในเลือด กระตุ้นการสร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้กระดูกมีการสลายมากกว่าการสร้าง จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เพิ่มขึ้น

ฟอกเลือด สูญเสียวิตามินดี

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ภาวะไตเสื่อมมักจะมีภาวะขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด เมื่อร่างกายขาดวิตามินดี จะส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะและแตกหักได้ง่ายมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกหัก

โรคไต ยังเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

เริ่มมีการศึกษามากขึ้นว่าภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยโรคไตสัมพันธ์กับภาวะแคลเซียมเกาะหลอดเลือด ดังนั้นหากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยโรคไต

  • ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง
  • ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง
  • ภาวะขาดวิตามินดี
  • ภาวะแคลเซียมเกาะหลอดเลือด

วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุน

ในคนทั่วไป อาจลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนจากการหลีกเลี่ยงอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป ลดอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ลดการดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ ออกไปสัมผัสแสงแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดี และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ 

แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังต้องเข้ารับการรักษาโรคไตที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้อาการของโรคไตดีขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุนได้ด้วย

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ผู้ป่วยโรคไต เสี่ยงภาวะ “กระดูกพรุน”