ปิดเมนู
หน้าแรก

“น้ำยาบ้วนปาก” กับ 4 วิธีใช้แบบผิดๆ ที่อาจทำร้ายเหงือก-ฟันได้

เปิดอ่าน 23 views

“น้ำยาบ้วนปาก” กับ 4 วิธีใช้แบบผิดๆ ที่อาจทำร้ายเหงือก-ฟันได้

น้ำยาบ้วนปาก เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้เรารู้สึกว่าได้ทำความสะอาดในช่องปากของตัวเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดกลิ่นปากได้ทันทีหลังใช้ เสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจได้มากขึ้น แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากผิดวิธี อาจนำมาสู่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเหงือก ฟัน และอวัยวะอื่นๆ ในช่องปากของเราได้

น้ำยาบ้วนปาก ใช้ผิดวิธี อันตราย

ผศ.ทญ.ศิริกาญจน์ อรัณยะนาค ผู้เชี่ยวชาญสาขาปริทันตวิทยา ภาควิชาปริทันตวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การใช้น้ำยาบ้วนปากผิดวิธี อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ในช่องปากของเราได้จริง โดยการใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพฟันและช่องปากมากกว่าผลดี ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นในการรักษาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่องปากเท่านั้น

“น้ำยาบ้วนปาก” กับ 4 วิธีใช้แบบผิดๆ ที่อาจทำร้ายเหงือก-ฟันได้

  1. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟัน

น้ำยาบ้วนปากไม่สามารถทดแทนการใช้แปรงสีฟันและยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุได้ แม้ว่าน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดคราบจุลินทรีย์ได้ จากการเป็นของเหลวที่สามารถแทรกซึมส่วนต่างๆ ในช่องปากได้ง่าย แต่เป็นการใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำความสะอาดเหงือกและฟันมากกว่า

ยกเว้นกรณีของผู้ป่วยที่ไม่สามารถแปรงฟันด้วยตัวเองได้ การใช้น้ำยาบ้วนปาก เป็นวิธีทำความสะอาดฟันที่แพทย์อาจแนะนำเพราะการแปรงฟันอาจไม่สามารถทำความสะอาดฟันได้ดีเท่าคนทั่วไป

นอกจากนี้ น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของสารฆ่าเชื้อ อาจทำได้แค่ลดกลิ่นปาก หรือมอบความสดชื่นให้กับผู้ใช้ได้เท่านั้น แต่ไม่มีความสามารถในการทำความสะอาด หรือขจัดคราบจุลินทรีย์ในปากแต่อย่างใด

  1. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากรักษาโรค

น้ำยาบ้วนปาก ไม่สามารถรักษาอาการของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเหงือกและฟันในช่องปากได้ แต่สามารถบรรเทาอาการของโรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม ชั่วคราวได้

  1. ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากบ่อยเกินไป

การใช้น้ำยาบ้วนปากบ่อยเกินไป อาจเกิดผลข้างเคียงต่างๆ เช่น เกิดคราบสีฟัน ปริมาณหินปูน ต่อมรับรสเปลี่ยนไป และยังอาจทำลายสมดุลแบคทีเรียที่ดีในช่องปาก เกิดการก่อตัวของเชื้อราในช่องปากได้ ดังนั้นไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างต่อเนื่องราว 2-3 สัปดาห์ แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นครั้งคราว ใช้เมื่อยามจำเป็นหรือเฉพาะกิจเท่านั้น

  1. น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้ช่องปากระคายเคือง

น้ำยาบ้วนปากในท้องตลาดมีทั้งแบบมี และไม่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม คนที่มีความรู้สึกไวต่อแอลกอฮอล์ หรือแพ้แอลกอฮอล์ อาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน ดังนั้นคนที่แพ้ง่ายหรือเซนซิทีฟต่อแอลกอฮอล์ ควรหยุดใช้ หรือเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมแทน

น้ำยาบ้วนปาก สาเหตุมะเร็งในช่องปาก?

แม้ว่าน้ำยาบ้วนปากจะมีข้อควรระวังในการใช้ และไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลงานวิจัยและหลักฐานใดๆ ที่มากพอจะบ่งชี้หรือสนับสนุนว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากนานๆ จะก่อให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้ ปัจจัยสำคัญของมะเร็งในช่องปากยังคงเป็นการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า

หากรักษาความสะอาดเหงือก ฟัน และในช่องปากได้ดีอยู่แล้วด้วยแปรงสีฟัน ยาสีฟันที่มีสารฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ และไหมขัดฟันแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำยาบ้วนปากเลย เพราะน้ำยาบ้วนปากไม่ได้มีประสิทธิภาพในการลดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากได้ดีกว่าแปรงสีฟัน และยาสีฟันที่ใช้อยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “น้ำยาบ้วนปาก” กับ 4 วิธีใช้แบบผิดๆ ที่อาจทำร้ายเหงือก-ฟันได้