ปิดเมนู
หน้าแรก

นอนกรนอันตราย! เช็กอาการเสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ”

เปิดอ่าน 115 views

นอนกรนอันตราย! เช็กอาการเสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ”

การนอนหลับ เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพที่หลายๆ คนมักจะมองข้ามไป เพราะในความเป็นจริงมนุษย์เราใช้เวลานอนถึง 1 ใน 3 ของชีวิต และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แค่เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังจำเป็นต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วย สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย จึงให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและสัญญาณอันตรายจากการกรน รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสม


ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น อันตรายที่เริ่มจากการ “นอนกรน”

แพทย์หญิงนวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทย โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ต้องบอกว่าปัจจุบันมีผู้เข้ามาปรึกษาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอาการนอนกรน ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยความคิดว่าเป็นสิ่งที่รบกวนคนที่นอนด้วย มากกว่าคิดว่าเป็นโรค แต่ในความเป็นจริงต้องบอกว่า อาการกรนนั้นเป็นสัญญาณเตือนของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โดยสาเหตุของการกรนเกิดได้จากระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน ต่อมทอมซิลโต โคนลิ้นใหญ่ เยื่อหูและจมูกบวม ลิ้นไก่ยาว ช่องคอหย่อน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาก็จะทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ และส่งผลให้ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง เกิดเป็นผลเสียต่อร่างกายเพิ่มขึ้นระยะยาว ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมาธิสั้น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากหลับใน โดยเฉลี่ยแล้วอาการกรนจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการหายใจมากกว่าผู้ชาย” 


กลุ่มเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

นายแพทย์สมประสงค์ เหลี่ยมสมบัติ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า จากการศึกษาที่มีในประเทศไทยพบว่าในประชากรผู้ใหญ่วัยทำงาน พบความชุกผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพศชายอยู่ที่ 15.4% และผู้หญิง 6.3% ในขณะที่ประเทศอเมริกา พบประชากรผู้ใหญ่ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นสูงถึง 1 ใน 3 คน โ


ปัจจัยเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

  • โรคอ้วน
     
  • สูบบุหรี่ 
  • ดื่มแอลกอฮอล์ 
  • ทานยานอนหลับบางชนิด
     
  • ฝุ่น PM 2.5 เป็นตัวกระตุ้นให้อัตราการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เยื่อบุจมูกเกิดการระคายเคือง มีการบวมคัด จะส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับง่ายขึ้น นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้ระบบหายใจส่วนล่างและถุงลมปอดเกิดความระคายเคือง เกิดอาการไอ หลอดลมอักเสบ โรคหืดกำเริบ ได้อีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับลดลง


เช็กอาการตัวเอง เสี่ยง “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” มากแค่ไหน

การเช็กอาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ให้สังเกตว่าตนเอง ดังนี้

  • เป็นเพศชายหรือไม่?
  • น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่?
  • เส้นรอบวงคอมากกว่า 40 ซม. หรือไม่?
  • มีความดันโลหิตสูง หรือกำลังรักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่ หรือไม่?
  • มีโรคประจำตัวหรือไม่? (ความดันโลหิตสูงโรคเบาหวานโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ)
  • นอนกรนดังหรือไม่? (ดังกว่าเสียงพูดคุย หรือ ดังพอที่จะได้ยินออกไปนอกห้อง)
  • มีคนเคยสังเกตเห็นว่าคุณหยุดหายใจขณะที่คุณหลับอยู่หรือไม่?
  • มีการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมกับอาการหายใจเฮือกหรือไม่?
  • ยังมีอาการง่วงอยู่ในช่วงกลางวันแม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอหรือไม่?

ถ้าส่วนใหญ่ตอบว่าใช่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยละเอียด หรืออาจทำ Sleep Test เพื่อการตรวจอย่างละเอียด ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : นอนกรนอันตราย! เช็กอาการเสี่ยง “หยุดหายใจขณะหลับ”