ปิดเมนู
หน้าแรก

ทำไม “วัยทำงาน” เสี่ยง “โรคอ้วน”

เปิดอ่าน 20 views

ทำไม “วัยทำงาน” เสี่ยง “โรคอ้วน”

กลุ่มวัยทำงานมีภาวะอ้วน กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการและมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หวั่นสุขภาพแย่ระยะยาว แนะกินอาหารถูกหลักโภชนาการ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยลดเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในภาวะเร่งรีบ กลุ่มวัยทำงานอาจเลือกกินอาหารจานด่วนที่ไม่ถูกหลักทางโภชนาการ เนื่องจากต้องการอาหารที่ทำง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งจากข้อมูล Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดวันที่ 27 เมษายน 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 จำนวนร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2 คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 จำนวนร้อยละ 6.22 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19  แต่ประชาชนที่เข้าข่ายภาวะอ้วนลงพุงสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ ด้วยการกินอาหารให้เหมาะสม และเพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวันให้มากขึ้น โดยให้ยึดหลักดังนี้

  1. กินอาหารให้เพียงพอสำหรับตนเอง ไม่กินมากเกิน ไม่กินน้อยเกิน
  2. กินอาหารหวานน้อย มันน้อย เค็มน้อย โดยใน 1 วัน กินน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เติมน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ซอสปรุงรสในการปรุงอาหารรวมกัน ไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา
  3. ชิมอาหารก่อนปรุง ปรุงให้น้อยที่สุด หรือไม่ปรุงเพิ่มเลยยิ่งดี 
  4. หากทำอาหารกินเอง แนะนำให้ใช้สมุนไพรไทย เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียม หรือเครื่องเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารแทนการเติมน้ำปลา น้ำตาล
  5. กินผักต้ม ผักลวก ผักยำ ผักสด หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารใส่กะทิ เช่น เนื้อสัตว์ทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ แกงกะทิ สลัดน้ำข้น เป็นต้น
  6. กินอาหารสด แทนอาหารแปรรูป (ตัวอย่างอาหารแปรรูป : ผักดอง ผักกระป๋อง ผลไม้ดอง ผลไม้  ตากแห้ง ไส้กรอก ไส้อั่วกุนเชียง หมูยอ เป็นต้น)
  7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟเย็น เครื่องดื่มสำเร็จรูป เป็นต้น ควรดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด วันละ 1.5–2 ลิตร
  8. หลีกเลี่ยงการกินบะหมี่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารกล่องแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีการใส่ผงปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส น้ำตาล ไขมัน เกลือโซเดียม เพื่อถนอมอาหาร
  9. นอนพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง

นอกจากนี้ หมั่นชั่งน้ำหนักและวัดรอบเอวเป็นประจำ โดยเส้นรอบเอวต้องน้อยกว่าส่วนสูงหารสอง ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 30 นาที เพื่อลดน้ำหนักและรอบพุง และควรทำมีการเคลื่อนไหวร่างกายขณะทำงานบ้าง เช่น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ แขน ขา คอ ประมาณ 5 นาที 2 ครั้งต่อวัน เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ ขี่จักรยานหรือเดินไปทำงาน เป็นต้น

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทำไม “วัยทำงาน” เสี่ยง “โรคอ้วน”