ปิดเมนู
หน้าแรก

ทำไมถึงต้องฉีด “วัคซีนโควิด-19” สลับยี่ห้อ ทั้งที่ WHO ยังไม่แนะนำ?

เปิดอ่าน 29 views

ทำไมถึงต้องฉีด “วัคซีนโควิด-19” สลับยี่ห้อ ทั้งที่ WHO ยังไม่แนะนำ?

การฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับยี่ห้อ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ผู้รับบริการที่ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวคไปแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้รับบริการกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยจะปฏิบัติตามแนวทางสำหรับหน่วยบริการต่างๆ รวมทั้งมีการติดตาม ประเมินผลการให้วัคซีนแบบสลับชนิดอย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อให้การรับวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันโรคโควิด-19 ได้สูงสุด และให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุด 

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักให้ความสนใจรายงานข่าวกรณีที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทย แถลงปรับเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ไทยถือเป็นชาติแรกที่มีการใช้วัคซีนไขว้สองชนิด ระหว่างวัคซีนเชื้อตายของซิโนแวค กับวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากที่ประเทศอื่นๆ ทดลองฉีดวัคซีนไขว้สองชนิดระหว่างวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า กับวัคซีนชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา หรือเป็นการฉีดชนิดเดียวกันแต่คนละยี่ห้อ อย่างที่จีนฉีดซิโนแวคสลับกับซิโนฟาร์มที่เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายเหมือนกัน

คำถามคือ ทำไมเราต้องฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ สลับชนิด และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ทำไมเราต้องฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ สลับชนิดกัน?

เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่างของชนิดและจำนวนวัคซีนที่รัฐบาลของแต่ละประเทศได้รับมาไม่เท่ากันจึงเกิดการพยายามจัดสรรใช้วัคซีนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่เหลือทิ้ง ด้วยการใช้วัคซีนไขว้ต่างชนิดกัน หรือการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มสามที่ต่างชนิดจากสองเข็มแรกนั้น โดยมีการทดลองแล้วในบางชาติ อาทิ สหราชราชอาณาจักร สเปน สวีเดน เกาหลีใต้ และเยอรมนี 

บวกกับทางการแพทย์การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันไม่ใช่เรื่องใหม่เอี่ยม แต่มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำได้ในทางทฤษฎี เพื่อเป็นการเสริมประสิทธิภาพของวัคซีนให้สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ง่าย และเป็นตัวแปรลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบัน การฉีดไขว้ชนิดหรือยี่ห้อกันจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่มีการทดลองทำก่อนจะได้วัคซีนตัวใหม่ที่มีการพัฒนาเพื่อต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ โดยตรงในอนาคต

ฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อได้ ทำไม WHO ถึงยังไม่รับรอง?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทฤษฎีจะสามารถฉีดวัคซีนไขว้ยี่ห้อหรือชนิดกันได้ แต่สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะ ยังไม่มีรายงานวิจัยหรือการทดลองให้ได้ในจำนวนหรือระยะเวลาที่มากพอที่จะพิสูจน์ได้ 100% ว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภุยและให้ผลดีต่อร่างกายจริงๆ ทำให้ทาง WHO หรือองค์การอนามัยโลกยังไม่ออกมารับรองถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ 100% เช่นกัน ต้องรอการเก็บข้อมูลจากการฉีดวัคซีนสลับชนิดอย่างละเอียดและใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

วัคซีนฉีดสลับยี่ห้อได้ แต่ไม่ใช่จะหยิบมาสลับฉีดกันมั่วๆ

แม้ในทางทฤษฎีจะสามารถฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อหรือชนิดได้ แต่ตามจริงแล้ว “ลำดับในการฉีด” ของวัคซีนแต่ละชนิดค่อนข้างสำคัญ นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (หมอแทน) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอดและเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า หากฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายอย่างซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม สามารถฉีดวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์อย่างแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาได้ โดยมีรายงานวิจัยบางส่วนจากต่างประเทศรายงานผลว่าสามารถเพิ่มภูมิต้านทานที่ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้มากกว่า 90% แต่หากฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ (แอสตร้าเซนเนก้า) หรือ วัคซีนชนิด mRNA (ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา) วัคซีนเข็มที่ 2 ไม่ควรเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตา (ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม) เพราะตามหลักแล้วการฉีดในลำดับแบบนี้ไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับภูมิต้านทานไวรัสแต่อย่างใด

วัคซีนซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากขึ้นเท่าไร?

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แม้ระดับ Neutralize antibody ขึ้น 80-90% แม้ว่าจะวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธ์ุอัลฟาได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เลย แต่ในคนที่ได้แอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม และมีระดับ Neutralize antibody ที่สูงเกิน 90% สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีระดับหนึ่ง

วัคซีนสูตรผสม เข็มแรกซิโนแวค เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่า ซิโนแวค 2 เข็ม แต่ยังไม่เท่าแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ขณะนี้การใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันเดลตา ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าต้องฉีด 2 เข็มจึงป้องกันได้ แต่มีระยะเว้นช่วงระหว่างเข็มนานมากกว่า 10 สัปดาห์ ในสถานการณ์ระบาดที่ส่วนใหญ่เป็นเดลตาที่กระจายง่ายและรวดเร็ว จึงไม่สามารถรอการเว้นช่วงนานได้ เป็นที่มาของการศึกษาการฉีดด้วยวัคซีนเชื้อตายตามด้วยไวรัสเวกเตอร์

ทั้งนี้ จากการติดตามผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 40 คน พบว่า คนที่ติดเชื้อธรรมชาติมีภูมิต้านทานประมาณ 60-70 u/ml, ซิโนแวค 2 เข็มภูมิต้านทานประมาณ 90-100 u/ml แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิต้านทานสูงประมาณ 950 u/ml ส่วนซิโนแวคเข็มแรกตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานเกือบ 750 u/ml ถือว่าได้ภูมิต้านทานที่สูงขึ้นได้ดีทีเดียว และเร็วขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลา 6 สัปดาห์ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยขณะนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีประเทศไทยที่เริ่มฉีดวัคซีนไขว้แบบเชื้อตายกับไวรัลเวกเตอร์ (ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า) จึงทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอว่าจะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงความปลอดภัยหลังจากได้รับวัคซีนสองชนิดนี้ก็ยังมีไม่มากเพียงพอเช่นกัน จึงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไปอย่างใกล้ชิด

ถ้าเลือกได้ mRNA ตั้งแต่เข็มแรกดีที่สุด

ในสถานการณ์ที่เลือกไม่ได้ของประเทศไทยในตอนนี้ที่มีเพียงวัคซีนเชื้อตายอย่างซิโนแวคและซิโนฟาร์ม กับวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า จึงทำให้เรามีตัวเลือกไม่มากนัก เป็นหน่าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรวัคซีนที่มีความหลากหลายมากขึ้นอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ที่ตอนนี้สายพันธุ์หลักที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในประเทศไทยตอนนี้คือสายพันธุ์เดลตาที่วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม หรือแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียวแล้วต้องรอไปอีกเป็นเดือนๆ อาจไม่เพียงพอและไม่ทันการ การฉีดวัคซีนซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้าเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในตอนนี้เท่านั้น

นายแพทย์ธนีย์ ธนียวัน (หมอแทน) ยังคงยืนยันว่า หากในอนาคตในประเทศไทยมีตัวเลือกของวัคซีนมากขึ้น ควรฉีดวัคซีน mRNA ด้วย โดยให้เป็นเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เลย แต่ไม่จำเป็นต้องรอฉีด mRNA เข็มแรก สำหรับเข็มแรกสามารถฉีดวัคซีนชนิดใดที่มีอยู่ในตอนนี้ เพราะอย่างไรก็สามารถช่วยป้องกันไวรัสได้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าไม่ได้รับการป้องกันอะไรเลย และยังสามารถลดระดับความหนักของอาการ ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้อีกด้วย

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทำไมถึงต้องฉีด “วัคซีนโควิด-19” สลับยี่ห้อ ทั้งที่ WHO ยังไม่แนะนำ?