ปิดเมนู
หน้าแรก

ทำไมต้องลงทุนหลายอย่าง

เปิดอ่าน 486 views

ทำไมต้องลงทุนหลายอย่าง

ทำไมต้องลงทุนหลายอย่าง

ทำไมต้องลงทุนหลายอย่าง

Money Hub

สนับสนุนเนื้อหา

พอมีเงินเหลือมาซักก้อน ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มมองหาการลงทุน บางคนถามว่า จะเล่นหุ้น หรือซื้อกองทุนดี ถามต่อ แล้วทำไมไม่ลงทั้งสองอย่างล่ะ ถามกลับ แล้วทำไมต้องลงหลายอย่าง ลงอย่างเดียวไปเลยสิ จะเสียเวลาดูแลหลายอย่างไปทำไม

ก่อนจะช่วยกันหาคำตอบ มาดูเรื่องนี้ก่อนค่ะ

จีน่า : ทำไมเธอทำงานหลายอย่างจัง ไหนจะทำงานประจำ, เขียนหนังสือ, รับจ้างสอนพิเศษ แล้วยังทำขนมขายอีก
บูม : อยากมีรายได้หลายๆ ทางอ่ะ
จีน่า: ทำไมอ่ะ แค่เงินเดือนจากพนักงานประจำก็น่าจะพอแล้วนี่ ไม่เห็นต้องยุ่งยากทำอะไรหลายอย่างเลย
บูม : จะได้สบายใจไงเธอ เผื่อเบื่องานประจำแล้วอยากลาออก หรือทำขนมขายแล้วขาดทุน อย่างน้อยก็มีรายได้จากทางอื่นอยู่
จีน่า : แล้วไม่เหนื่อยเหรอ ทำหลายอย่าง
บูม : ตอนแรกก็เหนื่อยอ่ะ แต่พอ set ให้เป็นระบบได้ ก็เหนื่อยน้อยลงนะ

กลับมาที่เรื่องของการลงทุน จริง ๆ แล้วแทบไม่ต่างกับตัวอย่างนี้เลย การที่เราต้องลงทุนในหลาย ๆ อย่าง ก็เพื่อความสบายใจ ลงทุนในตัวนี้ขาดทุน ก็ยังมีตัวอื่นที่ช่วยกระจายความเสียงอยู่ อย่างที่ภาษาการลงทุนเค้าเรียกว่าเป็นการทำ Asset Allocation นั่นเองค่ะ

แล้วลงทุนหลายอย่างไม่ปวดหัวเหรอ ก็อย่างที่คุณบูมกล่าวไว้นั่นแหละค่ะ ถ้าจัดวางระบบให้ดี ก็จะเหนื่อยเฉพาะในตอนแรกเท่านั้นเอง

จัดระบบการลงทุนอย่างไรดี

1. Asset Allocation

คือการแบ่งสัดส่วนของเงินเพื่อลงทุนในสินทรัพย์การเงินที่เหมาะสม เช่น นาย ก. เป็นพนักงานประจำ ได้เงินเดือนเดือนละ 100,000 บาท หลังจากแบ่งเงินออกเป็นสองส่วน คือเพื่อใช้จ่าย 70,000 บาท และ เพื่อลงทุน 30,000 บาท แล้ว นาย ก. ก็จะนำเงินส่วนลงทุนแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้

– ฝากเงินไว้ในบัญชีฝากประจำ 5,000 บาท
– กองทุนรวมตราสารหนี้ 5,000 บาท
– กองทุนรวมตราสารทุน 10,000 บาท
– RMF 5,000 บาท
– หุ้น 5,000 บาท

คำถามคือ นาย ก. รู้ได้อย่างไร ว่าต้องจัดสัดส่วนแบบนี้ การแบ่งเงินไม่ได้มีสัดส่วนตายตัว แต่ละคนก็จะมีการแบ่งเงินไม่เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็พอจะมีหลักเกณฑ์ในการแบ่งได้คร่าว ๆ ดังนี้

1) แบ่งเป้าหมายที่ต้องใช้เงินในระยะ สั้น/กลาง/ยาว ออกมาก่อน และดูว่าเป้าหมายนั้น ๆ ต้องใช้เงินในเวลานั้น ๆ เท่าไหร่
2) จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย อันไหนสำคัญกว่า ก็แบ่งเงินให้ก่อน และลดหลั่นกันลงไป
3) ปรับเงินที่แบ่งไปให้ในข้อ 2 ให้ละเอียดขึ้น โดยดูว่า เงินที่แบ่งไปในแต่ละเป้าหมาย ควรต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนกี่ % จึงจะถึงเป้าหมายนั้นได้
4) เลือกสินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับที่ตั้งไว้
มาถึงขั้นตอนนี้ ก็พอจะรู้แล้วว่าควรลงทุนในสินทรัพย์ไหนบ้าง ด้วยจำนวนเท่าไหร่ แต่ที่ขาดไม่ได้ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงประกอบด้วย

การมองความเสี่ยง ควรมองใน 2 มิติ

1. ความสามารถในการรับความเสี่ยง

จริงๆ ขึ้นกับหลายปัจจัยเลยทีเดียว ยกตัวอย่างปัจจัยที่สำคัญเช่น อายุ และความสำคัญของเป้าหมาย ยิ่งอายุมาก หรือ ยิ่งเป้าหมายสำคัญมาก ความสามารถในการรับความเสี่ยงจะยิ่งน้อยลง

2. ความกลัวความเสี่ยง

ข้อนี้เป็นเรื่องของส่วนบุคคลแล้วค่ะ บางคนมีความความสามารถในการรับความเสี่ยงได้มาก แต่โดยนิสัยส่วนตัว เวลาหุ้นตกเล็กน้อยก็นอนไม่หลับแล้ว แบบนี้แสดงว่าเป็นคนไม่ชอบความเสี่ยง ก็ต้องปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงลงมาค่ะ 

3. จัดระบบให้เป็นแบบ Automatic

เรื่องของการสร้างวินัยในการลงทุน หลายคนอาจคิดว่ายาก พอได้เงินมาก็อยากซื้อนั่นซื้อนี่เต็มไปหมด รู้ตัวอีกทีอ้าวเงินหมดซะแล้ว ยังไม่ทันได้ลงทุนเลย ถ้าคิดว่ามันสร้างยากก็ไม่ต้องสร้างเลยดีกว่าค่ะ ไหนๆ เราก็อุตส่าห์จัดสรรเงินเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนต้นว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน ก็ให้มันดูแลตัวเองไปซะเลย วิธีการคือผูกทุกอย่างเกี่ยวกับการลงทุนไว้กับการตัดเงินแบบอัตโนมัติ พอเงินเดือนออกปุ๊บ ให้ธนาคาร, บลจ. ตัดเงินไปลงทุนก่อนเลย เงินที่เหลือก็ถือซะว่าเป็นรายได้จริงๆ ของเราในเดือนนั้น ทีนี้อยากซื้ออะไรก็ซื้อไปเลยค่ะขอให้พอใช้ในเดือนนั้นๆ ก็แล้วกัน

4. Monitor

ข้อดีของการจัดระบบการลงทุนให้เป็นอัตโนมัติก็คือ ทำให้เราไม่ต้องกังวลเรื่องวินัยในการลงทุน แต่ข้อเสียก็คืออาจทำให้เราลืมที่จะติดตามผลการลงทุน ดังนั้นกำหนดไปเลยค่ะ ว่าเราจะต้องติดตามดูผลทุกๆเมื่อไหร่ เช่น หกเดือนครั้ง หรือปีละครั้ง จากนั้นก็ตั้งเป็นการแจ้งเตือนไว้ใน smart phone หรือ Computer ก็เป็นอันเสร็จพิธีค่ะ

สนับสนุนเนื้อหารโดย MoneyHub

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทำไมต้องลงทุนหลายอย่าง