ปิดเมนู
หน้าแรก

ทำความรู้จักกับ LEPTIN ฮอร์โมนความอิ่มที่อยู่เบื้องหลังโรคอ้วน

เปิดอ่าน 35 views

ทำความรู้จักกับ LEPTIN ฮอร์โมนความอิ่มที่อยู่เบื้องหลังโรคอ้วน

สาวๆ เคยสงสัยกันไหมว่าความหิวและความอิ่มของคนเรานั้น มีกระบวนการสร้างแบบไหน และมาจากส่วนไหนของร่างกาย ซึ่งหลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อฮอร์โมน LEPTIN กันมาบ้างแล้ว เพราะเป็นฮอร์โมนความอิ่มที่มีหน้าที่คอยควบคุมความอยากอาหารเมื่อกระเพาะเกิดการขยายตัว วันนี้เราจะชวนให้สาวๆ มาทำความรู้จักกับฮอร์โมนชนิดนี้กันให้มากขึ้น เพราะฮอร์โมนเลปตินจัดเป็นฮอร์โมนที่อยู่เบื้องหลังของโรคอ้วนอีกด้วย

LEPTIN คืออะไร

LEPTIN หรือ เลปติน รู้จักกันในชื่อฮอร์โมนความอิ่ม คือ ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย ถูกผลิตขึ้นจากเซลล์ไขมัน มีหน้าที่คอยควบคุมความอยากอาหารเมื่อกระเพาะขยายตัว นอกจากนี้ฮอร์โมนเลปตินยังมีหน้าที่ช่วยส่งสัญญาณความอิ่มไปยังสมองส่วนไฮโปธาลามัส ให้หยุดความอยากอาหาร พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการเผาผลาญภายในร่างกายมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหากฮอร์โมนเลปตินเกิดภาวะดื้อ ร่างกายก็จะรู้สึกอยากอาหารอยู่ตลอดเวลา กินมากแค่ไหนก็ไม่รู้สึกอิ่ม แถมยังทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ช้าลงตามไปด้วย

ภาวะดื้อฮอร์โมนเลปติน

ภาวะดื้อฮอร์โมนเลปติน ส่งผลทำให้สมองของคนเราขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม ซึ่งเรียกได้ว่าเกิดภาวะขาดสมดุลของฮอร์โมนเลปติน โดยสมองจะรับรู้ว่าร่างกายกำลังอยู่ในภาวะขาดพลังงาน หรือที่เรียกว่า Starvation Mode ทำให้เกิดอาการหิวอยู่บ่อยๆ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการกินที่มากขึ้น เพราะร่างกายจะมีความรู้สึกอยากอาหารและอยากกินบ่อยมากขึ้นนั่นเอง

วงจรภาวะดื้อฮอร์โมนเลปติน

ในส่วนของวงจรภาวะดื้อฮอร์โมนเลปตินนั้น สามารถอธิบายและเรียงลำดับได้ดังนี้

1.เกิดพฤติกรรมการกินมากขึ้น ทำให้ร่างกายมีไขมันมากขึ้น

2.เมื่อไขมันในร่างกายมากขึ้น ปริมาณเลปตินในเซลล์ไขมันก็มากขึ้นตามไปด้วย

3.เมื่อไขมันมีมากจนเกินไป จะส่งผลให้เกิดการขัดขวาง และรบกวนการส่งสัญญาณของฮอร์โมนเลปติน

4.ฮอร์โมนเลปตินทำงานไม่ปกติ สมองจะคิดว่าร่างกายกำลังหิว จึงทำให้เกิดอาการหิวบ่อยขึ้น

5.เมื่อเกิดพฤติกรรมการกินบ่อยๆ ก็ส่งผลให้ร่างกายอ้วนขึ้น และหิวบ่อยขึ้นกว่าปกติ

เคล็ดลับช่วยรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเลปติน

เมื่อภาวะดื้อฮอร์โมนเลปตินสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญก็คือ การรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเลปตินนั่นเอง ซึ่งมีเคล็ดลับในการรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเลปตินดังนี้

1.งดกินมื้อพิเศษหลังจากกินมื้อเย็น และควรกินมื้อสุดท้ายก่อนเข้านอน 3 ชั่วโมง

2.กินอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ โดยเว้นระยะห่างแต่ละมื้อประมาณ 5-6 ชั่วโมง พร้อมทั้งงดขนมขบเคี้ยว

3.หลีกเลี่ยงการกินอาหารมื้อใหญ่จนเกินไป และควรหยุดกินอาหารก่อนรู้สึกอิ่มจะช่วยให้กินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม

4.กินอาหารที่มีโปรตีนสูงในมื้อเช้า โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 25 กรัม

5.ลดปริมาณการกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หรือจำกัดการกินคาร์โบไฮเดรตแต่ละมื้อให้เหมาะสม

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับการทำความรู้จักฮอร์โมนเลปตินตามที่เราได้นำมาแชร์ไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนชนิดนี้มีความสำคัญต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันหากเกิดภาวะดื้อ ก็ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องใส่ใจมากๆ ก็คือ การรักษาความสมดุลของฮอร์โมนเลปตินนั่นเอง

 

Credit: Women Sanook!

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ทำความรู้จักกับ LEPTIN ฮอร์โมนความอิ่มที่อยู่เบื้องหลังโรคอ้วน