ปิดเมนู
หน้าแรก

จะดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อมีอาการ “นอนกรน”

เปิดอ่าน 425 views

จะดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อมีอาการ “นอนกรน”

จะดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อมีอาการ “นอนกรน”

Sanook! (Rewrite)

สนับสนุนเนื้อหา

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

1.ระวังอย่าให้เป็นหวัด หรือจมูกอักเสบ (โดยการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลง และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันตามมาได้แก่ เครียด  นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ โดนหรือสัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ ไม่ได้ใส่เสื้อผ้า หรือไม่ได้ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอ การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ตากฝน หรือสัมผัสกับอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น จากร้อนเป็นเย็น เย็นเป็นร้อน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้เราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบเรื้อรัง (จมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้) ควรระวังอย่าให้จมูกอักเสบกำเริบ (โดยการหลีกเลี่ยงความเครียด, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, อารมณ์เศร้า, วิตก, กังวล, เสียใจ, ของฉุน, ฝุ่น, ควัน, อากาศที่เปลี่ยนแปลง, อาหารบางชนิด, การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ  หรือ หวัด) เพราะถ้าเป็นหวัด หรืออาการจมูกอักเสบกำเริบ จะทำให้มีอาการ และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น เนื่องจากจมูกเป็นส่วนต้นของทางเดินหายใจ  เมื่อเป็นหวัด หรือจมูกอักเสบกำเริบ ควรทำให้หวัด หรือจมูกอักเสบนั้นหายเร็วสุดโดย

ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็นโดยเฉพาะแอร์ พัดลมเป่า การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์ ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้อากาศเย็นจนเกินไป ในกรณีที่ใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง  ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร หรือไม่ให้อยู่ในทิศทางของลม  ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ  เนื่องจากอากาศที่เย็น สามารถกระตุ้นเยื่อบุจมูก  ทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการคัดจมูก, คัน, จาม, น้ำมูกไหล และอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้นได้ 

ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ โดยเฉพาะเวลานอน เนื่องจากปัจจุบัน เรามักจะเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมขณะนอนหลับ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หรือผ้าพันคอ หรือหมวก เวลานอนด้วย  ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว  ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน 

ควรล้างจมูก, สูดไอน้ำร้อน และ/หรือพ่นยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, ยาหดหลอดเลือด และ/หรือกินยารักษาหวัด หรือจมูกอักเสบ เพื่อให้การอักเสบในจมูกหายเร็วสุด

ปัญหานี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องเป่าลม หรืออัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เพราะจมูกเป็นทางให้ลมจากเครื่อง CPAP เข้า เมื่อจมูกตันหรือตีบแคบ จะทำให้ลมถูกเป่าเข้าไปในทางเดินหายใจน้อยลง  กรณีผู้ป่วยใช้เครื่อง CPAP ชนิด Manual ผู้ป่วยอาจกลับมามีปัญหานอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้อีก  กรณีผู้ป่วยใช้เครื่อง CPAP ชนิด Auto  เครื่องจะเพิ่มแรงดัน อัดลมผ่านจมูกที่ตันหรือตีบแคบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด และร่วมมือในการใช้เครื่อง CPAP น้อยลง

2. ผู้ป่วยควรระวังอย่าให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพราะถ้าน้ำหนักเพิ่มขึ้น จะทำให้ไขมันพอกรอบคอ หรือทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบมากขึ้น และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น  ผู้ป่วยสามารถคำนวณน้ำหนักสูงสุดที่ควรจะเป็น สำหรับความสูงของผู้ป่วยได้โดย ผู้ป่วยไม่ควรมีน้ำหนักเกิน [ 23 x (ส่วนสูงเป็นเมตร) x (ส่วนสูงเป็นเมตร) ]  กิโลกรัม

3. ผู้ป่วยควรขยันออกกำลังกาย ไม่ควรขี้เกียจ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น เนื้อเยื่อในทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนมากขึ้นตามอายุ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น การออกกำลังกาย แบบแอโรบิค อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ  30  นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน  [การออกกำลังกายแบบแอโรบิค คือการออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง,  เดินเร็ว,  ขึ้นลงบันได,  ว่ายน้ำ,  ขี่จักรยานฝืด (แบบปรับน้ำหนักได้เช่น  ใน FITNESS), เต้นแอโรบิค, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน   หรือบาสเกตบอล] จะช่วยป้องกันความหย่อนยานดังกล่าวได้ โดยไม่ให้หย่อนยานมากกว่าที่ควรจะเป็นตามอายุ และยังช่วยให้หลับได้ดีขึ้นและลึกขึ้นรวมทั้งช่วยควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้นตามข้อ 2 ได้ 

นอกจากนั้นการออกกำลังกายดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นหวัด หรือป้องกันไม่ให้อาการของโรคจมูกอักเสบเรื้อรังกำเริบขึ้นด้วย (ข้อ1)  ดังนั้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นประโยชน์มากในผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

4. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง เช่นยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท, ยาแก้แพ้ชนิดง่วง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เบียร์  ไวน์  วิสกี้  เหล้า โดยเฉพาะก่อนนอน  เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น และสมองตื่นตัวช้าลง ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น  และมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น  นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้นอนหลับไม่สนิท  ตื่นได้ง่าย  อาจเกิดฝันร้ายในเวลากลางคืน และมักมีแคลอรี่สูง จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนแคบลง 

5. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่ ภายใน 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนบวม ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น  นอกจากนั้นสารนิโคติน (nicotine) อาจกระตุ้นสมอง ทำให้ตื่นตัว และนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิท ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีแนวโน้มที่นอนหลับได้ไม่เต็มที่อยู่แล้ว  เนื่องจากถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับ จะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย  เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่น เพื่อเริ่มหายใจใหม่ และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน

6. ผู้ป่วยควรนอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ เพราะจะช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้บ้าง  และควรนอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก

7. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสารคาเฟอีน (caffeine) (ซึ่งมีในกาแฟ, ชา, ชาเขียว, เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำอัดลม, โกโก้, ช็อคโกแลต และยาบางชนิด), ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท, ยาขยายหลอดลม (bronchodilator) และยาแก้คัดจมูกบางชนิด (เช่น pseudoephedrine) ภายใน 4-6 ชั่วโมง ก่อนนอน เนื่องจากสารคาเฟอีน และยาดังกล่าวนี้ จะกระตุ้นสมอง ทำให้ตื่นตัว และนอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิท

8. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารจำนวนมาก หรืออาหารที่ย่อยยาก (เช่น เนื้อสัตว์ หรือไขมันปริมาณสูง) หรืออาหารที่มีรสเผ็ดจัด ภายใน 3 ชั่วโมงก่อนนอน เนื่องจากอาจทำให้ท้องอืด อึดอัด รบกวนการนอนหลับได้ เช่น อาจทำให้นอนหลับได้ยาก, ตื่นบ่อย, หลับไม่สนิท และเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ 

9. ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงเหตุที่ทำให้มีการไหลย้อนของกรดในช่วงเวลานอน โดยควบคุมนิสัยการกิน (โดยเฉพาะมื้อเย็น) และการนอนให้ดี  เพราะถ้ามีการไหลย้อนของกรดในช่วงเวลานอน ขึ้นมาในทางเดินหายใจส่วนบน  จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากขึ้น

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY

 

 
 
 
 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : จะดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อมีอาการ “นอนกรน”