ปิดเมนู
หน้าแรก

ค้นหาคำตอบ “ถั่วดาวอินคา” น่าปลูกจริงหรือ???

เปิดอ่าน 2,023 views

ค้นหาคำตอบ “ถั่วดาวอินคา” น่าปลูกจริงหรือ??? โดย ดร.เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ และผู้เกี่ยวข้อง

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558
เนื้อหาโดย ทีมข่าวเกษตรก้าวไกลดอทคอม
daoinka semina
ต้องยอมรับความจริงว่า เกษตรประเทศไทยยังเป็นอาชีพที่หวั่นไหว ทั้งที่เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาช้านาน แต่เรากลับหาความมั่นคงยั่งยืนไม่ได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกนานแค่ไหนจะเป็นอาชีพที่ทำให้คนไทยเราลืมตาอ้าปากได้ หมายความว่าอยู่กันได้อย่างพอดีพอเพียง ไม่ใช่ว่าต้องคอยเหลียวมองอยู่ตลอดเวลาว่า จะต้องปลูกพืชอะไรดี เลี้ยงสัตว์ชนิดไหนถึงจะไปได้ คือตลาดหาความแน่นอนไม่ได้ เมื่อไม่มีความชัดเจนก็แน่ละว่า ใครเสนอทางเลือกอะใหม่ก็กระโดดเข้าใส่ โดยไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีจริง …
การสัมมนา “ถั่วดาวอินคา น่าปลูกจริงหรือ?” จึงเกิดขึ้น เพราะถั่วชนิดนี้เป็นพืชชนิดใหม่ที่ยังมีข้อสงสัยหลายประการ โดยที่ “เกษตรก้าวไกล เว็บไซต์ข่าวเกษตรเพื่อพัฒนาประเทศ” มองว่าข้อมูลจากการสัมมนามีประโยชน์ต่อวงการเกษตรและโดยเฉพาะเกษตรกรที่คิดจะปลูก จึงนำข้อมูลบางส่วนที่สำคัญมานำเสนอ ดังต่อไปนี้   
นันท์นภัส ราชเจริญ บก. นิตยสารเกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย…ผู้เปิดเวทีสัมมนา
ขอเริ่มจากผู้ดำเนินการจัดสัมมนาครั้งนี้ คือนิตยสารเกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย ซึ่งได้นำเสนอข่าวสารวงการเกษตรที่หลากหลาย และหนึ่งในนั้นได้นำเสนอในเรื่องถั่วอาวอินคา ปรากฏว่ามีผู้คนให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง จึงเป็นที่มาของการจัดสัมมนาเรื่อง “พืชพารวย ดาวอินคา น่าปลูก จริงหรือ..?”
โดยการสัมมนามีขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม 2558 ณ ห้องรวงข้าว อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และมีเข้าร่วมสัมมาประมาณ 150 คน ซึ่งเป็นเกษตรกรและผู้สนใจจากทั่วประเทศ
คุณนันท์นภัส ให้ข้อมูลทางวิชาการว่า “ถั่วดาวอินคา (Sacha Inchi) เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากป่าอะเมซอนในแถบประเทศเปรู เป็นพืชตระกูล Euphorbiaceae สายพันธุ์ Plukenetia สปีชี่ Linneo Volubilis มีชื่อสามัญว่า Sacha inchi, Sacha inchic, Sacha mani, Inca peanut พืชชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอุ่น ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 100-2,000 เมตร เป็นพืชอายุยืน 10-50 ปี จากงานวิจัยของหลายๆ สถาบันในต่างประเทศพบว่า ถั่วดาวอินคา เป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เนื่องจากอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น มีวิตามิน A และ E อีกทั้งมีกรดไขมันโอเมก้า 3,6 และ 9 ในปริมาณที่สูงมาก”
“ถั่วดาวอินคา มีการมองกันว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแรงและได้รับความสนใจจากนักลงทุนเกษตรมากขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากพืชหลักๆ อย่าง ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มีราคาซื้อขายที่ถูกลงมาก อีกทั้งต้นทุนการผลิตที่ใช้ก็สูงขึ้น”
“อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่คิดจะปลูกถั่วดาวอินคา ต้องการหาความรู้ ความจริง ที่จับต้องได้ ที่สำคัญเรื่องการตลาดที่ยั่งยืน ซึ่งต้องยอมรับว่ายังขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องพื้นที่ปลูก การปลูก การดูแลรักษา การตลาด ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร ทำให้หลายคนยังลังเลและไม่กล้าตัดสินใจปลูก จึงเป็นเหตุผลให้นิตยสารเกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย เปิดเวทีให้กับทุกฝ่าย เพื่อมาหาคำตอบ หาข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจว่า…ดาวอินคา พืชใหม่พารวย น่าปลูก จริงหรือ..?”
sacha-inchihang
สำหรับวิทยากรที่มาบรรยายให้ความรู้ในวันนั้น ประกอบด้วย ดร.เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ  ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร, ดร.สุนทร พิพิธแสงจันทร์ กรรมการที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย บรรยายเรื่อง “ดาวอินคา ถั่วมหัศจรรย์ ลุ่มน้ำอะเมซอน…ความจริงที่ควรรู้ก่อนลงมือปลูก” ต่อด้วยหัวข้อ “ดาวอินคา ปลูกแล้วรวย จริงหรือ..?”  ผู้บรรยายเป็นตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกทั่วทุกภาคในประเทศไทย ประกอบด้วย คุณผิวแปง วงศ์ชัย   ตัวแทนผู้ปลูกดาวอินคาจากภาคเหนือ จ.เชียงราย. คุณวีระชัย แช่มรัมย์ ตัวแทนผู้ปลูกดาวอินคาจากภาคอีสานตอนล่าง จ.นครราชสีมา. คุณวัลชัย เอื้อเฟื้อ   ตัวแทนผู้ปลูกดาวอินคาจากภาคตะวันตก จ.นครปฐม และคุณณัฏฐ์กิตติภูมิ จันทวฤทธิ์ ตัวแทนผู้ปลูกดาวอินคาจากภาคตะวันออก จ.ระยอง
ภาคบ่าย การสัมมนาได้ไขความลับ หาคำตอบ “ดาวอินคา ปลูกแล้วขายใคร ตลาดไกล ยั่งยืน จริงหรือ..?”
ผู้บรรยายประกอบด้วย  คุณแสงประทีป บัวลอย ประธานบริหาร บริษัท เกษตรพาร์ทเนอร์ จำกัด ผู้แปรรูปถั่วดาวอินคา เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ, คุณสุวรรณนิสา  พันธเสน ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการตลาด บริษัท นาธาร การค้า จำกัด ผู้ส่งเสริมปลูก-รับซื้อ และปิดท้ายด้วยหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมปลูก-รับซื้อ ผลผลิตส่งจีน” ผู้บรรยายคือ ว่าที่ ร้อยตรีชำนาญพัศธนัน  มรกต ประธานกรรมการบริหารจาก บริษัท ไท.ซี.เอ็ม.เอส สแตนดาร์ด อินดัสเตรียล จำกัด และ พลโทเสนิส ไพรทอง นายกสมาคมชาวนาชาวไร่ประเทศไทย
การจัดสัมมนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย คุณมนตรี  ตรีชารี อุปนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ/บรรณาธิการบริหารนิตยสารเกษตรโฟกัสและนิตยสารชุมทางอาชีพ และต่อไปนี้ เป็นอีกมุมมองหนึ่งจากวิทยากรผู้บรรยาย และผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่ง “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” ได้เรียบเรียงขึ้น ลองฟังกันดู…
มุมมอง “ถั่วดาวอินคา” จาก ดร.เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ  
ในการสัมมนาถั่วดาวอินคาครั้งนี้ ผู้ที่มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานคือ ดร.เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ  ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและจัดการการผลิตพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชสมุนไพร กรมส่งเสริมการเกษตร และในโอกาสนี้ยังได้บรรยายพิเศษ เกี่ยวกับการติดตามและแนวทางการส่งเสริมการปลูกถั่วดาวอินคาในมุมมองของภาครัฐ
“สถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วงว่า มีการโฆษณาชวนเชื่อให้เกษตรกรปลูกถั่วดาวอินคากันอย่างกว้างขวางจนเป็นกระแสว่าปลูกแล้วต้องดีต้องรวย เช่น บอกว่ามีออร์เดอร์รับซื้อ300 ตัน/เดือน มีตลาดรับซื้อแน่นอน กิโลกรัมละ 70 บาท รายได้ต่อไร่ 5,000-10,000 บาท/เดือน หากปลูกแล้วตายบริษัทจะดูแลรับผิดชอบให้นาน 20 ปี หรือปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ 50 ปี ฯลฯ”
“ในความเป็นจริงนั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องพิสูจน์ ทั้งเรื่องการตลาดที่ว่าจีนรับซื้ออยู่เจ้าเดียว ถ้าวันใดที่ไม่รับซื้อขึ้นมาจะทำอย่างไร และซื้ออยู่เจ้าเดียวก็บีบราคาเราได้  อีกประการหนึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งกระทรวงสาธารสุขก็ยังไม่เคยมีงานวิจัยในเรื่องถั่วดาวอินคาแต่อย่างใด ทั้งเรื่องส่งเสริมการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ที่ปลูก ปัญหาโรคแมลงต่างๆ รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการ แต่เท่าที่ได้ติดตามข้อมูลที่นำมากล่าวอ้างของต่างประเทศก็คิดว่าพอเชื่อได้ในเรื่องของคุณสมบัติหรือประโยชน์ทางโภชนาการ อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าพืชชนิดนี้รับประทานได้ แต่จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายระดับไหนนั้นก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน ต้องรอให้หน่วยงานราชการของไทยได้ทำการวิจัยหรือศึกษาให้ดีเสียก่อน คือเรายังไม่มีการรับรองพันธุ์ หรือไม่มีพันธุ์แนะนำ อย่างไรก็ดีคิดว่าเร็วๆนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจะต้องศึกษาวิจัยและทำความจริงให้ปรากฏ”
“สิ่งที่อยากสรุปในขั้นต้นนี้คือ เกษตรกรต้องหาข้อมูลและวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ผลีผลาม เพราะหวังรวยเพียงอย่างเดียว เรามีบทเรียนมาแล้วจากอดีตที่มีผู้สร้างกระแส มีการทำสัญญารับซื้อโดยบริษัทจำหน่ายพันธุ์ พร้อมวัสดุแก่เกษตรกร แต่ไม่มีการรับซื้อคืน เช่น ต้นตะกู สบู่ดำ กระถินเทพา เป็นต้น”
“บริษัทควรมีความจริงใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ร่วมมือกับภาครัฐในการศึกษายืนยันข้อมูล กำหนดมาตรฐาน สร้างตลาดในประเทศให้เข้มแข้ม สร้างความมั่นใจแก่เกษตรกร และก้าวอย่างมั่นคงไปด้วยกัน”
“ถึงแม้ว่าถั่วดาวอินคาจะมีศักยภาพ แต่ถ้ารีบร้อนเกินไป ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เช่น ผลิตภัณฑ์ล้นตลาด เกษตรกรไม่มีตลาดรองรับ หรือพืชผลเสียหายในวงกว้างจากพันธุ์ที่มีโรคแมลง หรือการตัดการที่ไม่ถูกต้อง ที่ไม่เหมาะสม” ดร.เศรษฐพงศ์ กล่าวในที่สุด
chadaoinka
มุมมอง…ถวิล สุวรรณมณี อดีตนายกสมาคมสื่อมวลชนเกษตรฯ
ในฐานะที่คุณถวิล สุวรรณมณี เป็นผู้หนึ่งซึ่งมาร่วมรับฟังและในฐานะสื่อมวลชนที่มีบทบาทต่อภาคเกษตรในหลายๆครั้งที่มีการสร้างกระแสข่าวในเรื่องการปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ซึ่งได้ทำให้เกษตรกรตกเป็นเหยื่อแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้ให้แสดงความคิดเห็นว่า
“ในฐานะสื่อมวลชนเราต้องทำความจริงให้ปรากฏ ต้องฟังความให้รอบด้าน อย่างถั่วดาวอินคาก็ต้องฟังทั้ง 2 ด้าน ผมเสียดายที่พลาดฟังช่วงเช้าที่ ดร.เศรษฐพงศ์ เลขะวัฒนะ  เป็นวิทยากรผู้บรรยาย แต่ก็พอจะทราบว่าท่านได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งผมจะไม่พูดว่า ดีหรือไม่ดี คือถ้าฟังวิทยากรที่ปลูกที่รับซื้อ เขาต้องบอกว่าดีเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่ฟังแล้วไปคิดก็คือเกษตรกร อย่าได้คิดตัดสินใจอะไรง่ายๆจนเกินไป”
“ผมติดอยู่นิดเดียวตรงที่ว่ามีคนพยายามว่าชี้นำว่าถั่วดาวอินคาเป็น “พืชเศรษฐกิจ” หรือเป็นพืชทางเลือกใหม่อะไรทำนองนี้ ผมอยากให้ข้อคิดว่าพืชเศรษฐกิจในความหมายทางวิชาการนั้นหมายถึง พืชที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมีลักษณะเด่นในการค้า ที่สามารถจะนำไปบริโภคโดยเป็นอาหารที่ให้วิตามิน แร่ธาตุ และเป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์ และสัตว์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และประกอบเป็นอาชีพได้    ซึ่งขยายความได้ว่าความสำคัญของพืชเศรษฐกิจจะต้องทำเป็นอาชีพหลักของคนไทย เพราะส่วนใหญ่ประเทศไทยมีอาชีพทางการเกษตร ผลผลิตที่ได้จะต้องเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม และแน่นอนว่าจะต้องเป็นแหล่งผลผลิตของการเกษตรเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ไม่ใช่ว่าอะไรๆก็เป็นพืชเศรษฐกิจหรือใช้คำว่าพืชเศรษฐกิจกันได้ง่ายๆ อย่างทุกวันนี้” นี่เป็นความปรารถนาดีของสื่อมวลชนสายเกษตรที่ใช้เวลากว่าครึ่งค่อนชีวิตกับการรายงานข่าวสารสู่พี่น้องเกษตรกรไทย
“ถั่วดาวอินคา” สุดยอดพืชเพื่อสุขภาพ ถ้า…? โดย หนึ่งฤทัย แพรสีทอง บก.รักษ์เกษตร
คุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง หรือ “คุณหนึ่ง” ในฐานะบรรณาธิการบริหาร นิตยสารรักษ์เกษตร เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ เขาได้ให้มุมมองผ่านทาง เฟสบุ๊กกลุ่ม “เกษตรก้าวใหม่” …เว็บไซต์ “เกษตรก้าวไกลดอทคอม” พิจารณาว่าข้อเขียนและมุมมองของเขา “ตรงไปตรงมา” มีประโยชน์ จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้งแบบเต็มๆ ดังนี้
“เมื่อวาน(14/3/58) มีโอกาสไปฟังสัมมนา เรื่อง “ถั่วดาวอินคา น่าปลูกจริงหรือ?” ที่จัดโดย นิตยสาร เกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย ของเพื่อนร่วมวงการสื่อด้วยกัน… คนสนใจเข้าร่วมสัมมนา 150 คน เจอแฟนเพจบางคนที่ติดตามหนึ่งด้วยนะ หนึ่งเชื่อว่าข้อมูลที่ทุกคนได้รับจากวิทยากรในวันนั้นเหมือนกัน รับข้อมูลมาเหมือนกันแต่ทุกคนจะคิดไม่เหมือนกัน จริงๆแล้ว ถั่วดาวอินคาหนึ่งแทบไม่อยากแตะต้อง เพราะมีทั้งคนที่อยากปลูกและคนที่ต่อต้าน….แล้วมันก็จะเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่รู้จบ เหมือนกับ แคปซูลนาโน แต่จากข้อมูลที่ได้ฟังเมื่อวานก็อยากจะบอกกล่าวและแชร์ประสบการณ์ค่ะ แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงหลายเรื่องก็ตาม….แต่หนึ่งมันไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว….ถ้าคิดจะยืนอยู่ในตำแหน่งนี้ค่ะ
ถั่วดาวอินคาเป็นพืชที่มีประโยชน์มากค่ะ มันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าอย่างยากที่พืชอื่นจะเทียบได้ค่ะ ไม่เพียงแต่ โอเมก้าเท่านั้นที่โดดเด่นเหนือทุกพืช ยังมีสารอื่นๆอีกมากมายที่จะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพต่างๆได้อย่างดีเลย ไม่ว่าจะเป็น ความดัน เบาหวาน สะเก็ดเงิน หลอดเลือดตีบ อัมพฤต อัมพาต ฯลฯ สรรพคุณมันมากล้นจนน่าที่จะได้รับการสนับสนุนให้เป็นพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่จำหน่ายอย่างแพร่หลาย รวมทั้งในด้านของอุตสาหกรรมความงามด้วย
ประโยชน์มากมาย แต่ถั่วดาวอินคา เป็นพืชใหม่สำหรับคนไทย มีงานวิจัยจากต่างประเทศมากมาย แต่นักวิจัยไทยไม่รู้จัก จึงยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาศึกษาวิจัยเรื่องนี้จริงจังและกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้วันนี้ ผลิตภัณฑ์ถั่วดาวอินคา ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ค่ะ นี่คือ อุปสรรค สำคัญของพืชตัวนี้ในการจำหน่ายและทำตลาดในบ้านเราค่ะ
ด้วยประโยชน์และสรรพคุณที่มากล้น ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องพึ่งตลาดจีนในการขายเม็ดให้จีนด้วยซ้ำไป แต่เราเองสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของไทยเอง ทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางค์เกรดพรีเมี่ยมด้วยซ้ำไป ขายให้ทั้งคนไทยและทั่วโลกได้เลยค่ะ…..แต่ใครจะทำ….จริงๆมันทำได้นะคะ ถ้าเราทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจพืชตัวนี้อย่างจริงจัง
ในแง่การปลูก ถั่วดาวอินคา ยังมีปัญหาในการปลูกมากคือ โดยเฉพาะในเรื่องของสายพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเมล็ดพันธุ์ทั้งหมดที่ปลูกกันอยู่นี้นำเข้ามาจากจีน เพราะจีนเป็นประเทศที่ส่งเสริมปลูกและรับซื้อผลผลิต ไม่ใช่แค่ในไทยแต่ในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ในเมื่อจีนต้องการผลผลิตมหาศาลแต่ทำไมจีนไม่ปลูกเอง เพราะสภาพแวดล้อมของจีนไม่เหมาะที่จะปลูก จีนมีสภาพอากาศหนาวและแห้งแล้งในบางช่วง ถั่วดาวอินคาจึงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตลอดทั้งปีค่ะ จีนจึงต้องมาส่งเสริมนอกบ้านค่ะ แต่ปัญหา คือ พันธุ์ที่มีอยู่อ่อนแอมาก โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า โรคเหี่ยว โรคนี้ทำให้ถั่วดาวอินคาในจีนตายยกแปลงจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้ในแทบทุกพื้นที่ และเมื่อนำมาปลูกในบ้านเราก็มีปัญหาไม่ต่างกัน เจอปัญหาแทบจะทุกพื้นที่ แต่จะเริ่มเจอกับต้นอายุ 1.5-2 ปี และด้วยเงื่อนไขห้ามใช้สารเคมีในการปลูก ทำให้ปัญหานี้จะสร้างปัญหาให้กับผู้ปลูกในอนาคตอย่างแน่นอน แม้ข้อมูลบอกว่า ดาวอินคาอายุยืนถึง 50 ปี แต่มันไม่สามารถอยู่ไปได้ถึงวันนั้นค่ะ
daoinka industrail
ปัญหาเรื่องของพันธุ์และปัญหาเรื่องของโรคในถั่วอินคาไม่ยากเลยที่จะแก้ปัญหาค่ะ แต่ที่ยังแก้ไมได้เพราะการส่งเสริมพืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มและส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในแวดวงเกษตร จึงทำให้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมีนักวิชาการเกษตรมหาศาลไม่ได้เข้ามาศึกษาและพัฒนาการปลูกพืชตัวนี้ค่ะ จริงๆปัญหาโรคไม่ใช่เรื่องใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาพันธุ์ให้แข็งแรงเหมาะที่จะปลูกเพื่อการค้าก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่หากเรื่องนี้ได้รับงบประมาณวิจัยจากหน่วยงานด้านนี้ แต่ทำอย่างไรจะให้นักวิชาการเข้ามาวิจัยถั่วดาวอินคาได้ เพราะคนส่งเสริมปลูกอยู่นอกภาคเกษตรที่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในพืชเกษตรอีกมาก อีกปัญหาคือหนอนเจาะลำต้น ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ทั้งๆที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เลย แต่เพราะคนส่งเสริมปลูกไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรอย่างที่บอกค่ะ
มีบางบริษัทที่ส่งเสริมบอกว่า สามารถพัฒนาพันธุ์ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และไม่ใช่พันธุ์ที่ปลูกกันอยู่อย่างในปัจจุบันที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากจีน แต่ราคาเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่ว่าก็ค่อนข้างสูง 1 ไร่ ลงทุน 10,000-30,000 บาทค่ะ
วันนี้ ผลผลิตเมล็ดออกมาแล้วบางส่วนแต่ไม่มีใครทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการส่งออกไปยังจีนแล้วจริงหรือไม่ เพราะบริษัทที่ส่งเสริมต่างไม่มีใครพูดความจริง และไม่มีใครตรวจสอบได้ นอกจากว่าหน่วยงานของรัฐจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ แต่มีข้อมูลว่า เมล็ดที่รับซื้อกันยังไม่มีการส่งออกไปจีนแต่อย่างใดแต่ซื้อแล้ววนเมล็ดกลับมาใช้สำหรับผู้ปลูกรายใหม่ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆอยู่ อันนี้ไม่มีใครรู้ว่าจริงแค่ไหน แต่มีความเป็นไปได้สูงมากค่ะ
การส่งเสริมปลูกในช่วงแรก มาจากคนเพียงไม่กี่คน โดยคนที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักว่า เป็นคนส่งเสริมรายใหญ่ คือ มาดามตาล ชาวจีน ที่ทุกสื่อลงข่าวกันเกือบหมด และคนที่ส่งเสริมปลูกหลายคนแตกหน่อมาจากที่นี่ วันนี้มีใครรู้หรือไม่ว่า มาดามตาล อยู่ที่ไหน….มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มาดามตาล ถูกฟ้องจากคนส่งเสริมปลูกว่าไม่รับซื้อผลผลิตคืนในหลายประเทศ….จริงหรือไม่….
วันนี้ นอกจาก มาดามตาล มีบริษัท ส่งเสริมปลูกและรับซื้อผลผลิตเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก อย่างที่บอกค่ะ ความต้องการของจีนสำหรับพืชตัวนี้มันมีเยอะจริงค่ะ หลายบริษัทให้ข้อมูลว่าพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมของบริษัทตัวเอง 5,000 ไร่ 10,000 ไร่ แต่….เราจะตรวจสอบได้อย่างไรว่าบริษัทเหล่านี้ ใครเชื่อถือได้หรือใครเชื่อถือไม่ได้….ในเมื่อแต่ละบริษัทที่ส่งเสริมปลูกอยู่ตอนนี้ต่างต้องการแย่งพื้นที่กัน และให้ข้อมูลในแง่ลบของกันและกันพร้อมกับสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเอง คุณต้องหาบริษัทที่เชื่อถือได้ให้เจอค่ะ
ในแง่เศรษฐกิจ บอกเลยว่า ราคารับซื้อแบบนี้ การลงทุนแบบนี้ และปัญหาเรื่องของสายพันธุ์ที่ยังแก้ไม่ได้แบบนี้ ปัญหาการตลาดแบบนี้ ดาวอินคา ไม่ใช่พืชที่น่าลงทุน ถ้าคุณหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจนะ ไม่ได้หวังว่าปลูกเพื่อกินเอง มาดูกันว่าทำไม 1 ไร่ 200 ต้น ต้องทำค้างด้วยเสาปูน ต้นละ 100 บาท ก็ไร่ 20,000 บาท เมล็ดพันธุ์ เม็ดละ 3-5 บาท 10,000 บาท เท่ากับไร่ละ 25,000-30,000 บาท ดาวอินคา ไม่ทนแล้ง ต้องให้น้ำเพียงพอ ขาดน้ำเกิน 5-7 วันตายค่ะ ต้องลงทุนระบบน้ำ ไร่ละ 3,000-5,000 บาท และพื้นที่แห้งแล้ง ปลูกไม่ได้นะคะ ใครที่คิดว่าจะปลูกดาวอินคาแทนมัน แทนอ้อย ไม่ได้นะคะ ดาวอินคาแก่ไม่พร้อมกัน ต้องมีแรงงานคอยเก็บผลผลิตอีก ผลผลิตเก็บ 3-4 เดือนครั้งค่ะ แต่บางคนเก็บเดือนละครั้งค่ะแล้วรวบรวมส่งขายทีเดียวเมื่อผลผลิตเยอะ
sachainchi9
รายได้ อันนี้เป็นรายได้จริงนะคะ ราคารับซื้อตอนนี้อยู่ที่ เม็ดไม่กะเทาะเปลือก กก.ละ 25-30 บาท เม็ดกะเทาะแล้ว 80 บาท แต่ส่วนใหญ่คงขายกันแบบไม่กะเทาะค่ะ ผลผลิต 1 ต้น/รอบการเก็บ (4 เดือน) 5-10 กก.ค่ะ เท่ากับ 1 ไร่ 1,000-1,500 กก. รายได้ต่อรอบ 25,000-30,000 บาทต่อไร่ ดาวอินคาจะเริ่มเก็บฝักได้ 8 เดือนหลังปลูก ปีแรกหรือ เดือนที่ 12 จะเก็บผลได้ 1 ครั้ง รายได้ 25,000-30,000 บาทต่อไร่ ปีที่ 2 เก็บได้ 3 รอบ เท่ากับ สิ้นปีที่ 2 หรือ เดือนที่ 24 มีรายได้ 100,000 บาท ในกรณีที่คุณไม่เสียหายนะคะหรือได้ผลผลิตเต็มร้อยค่ะ แต่สุดท้ายแล้วคุณจะได้ผลผลิตไม่เต็มร้อยค่ะ จาก ต้นที่เป็นโรคและตายไป กับ ในสภาพที่น้ำไม่ถึง ปุ๋ยไม่ถึง ฝักจะไม่ใหญ่ เมล็ดจะฝ่อค่ะ น้ำหนักคุณจะไม่ได้ตามนี้ค่ะ
สรุป….ดาวอินคา น่าปลูกหรือไม่…น่าปลูกค่ะ….ถ้าสามารถพัฒนาและแก้จุดที่ยังเป็นปัญหาที่กล่าวมาค่ะ และมันจะพัฒนาได้อีกไกล ถ้าพืชตัวนี้เข้าไปเป็นพืชที่ภาครัฐให้ความสนใจมากกว่านี้ และคนที่ส่งเสริมและคนที่ทำตลาดจะเข้าถึงภาครัฐได้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ขอบอกว่า….ภาพของดาวอินคา…เป็นลบ….มากกว่า….เป็นบวก… ถ้าในแง่ของพืชเศรษฐกิจค่ะ….แล้วเราจะเสีย พืชดีๆ ไปหนึ่งตัวอย่างน่าเสียดายค่ะ”
ทั้งหมดที่นำมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังนั้นก็เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน พีงตระหนักว่าการที่จะลงทุนทำการเกษตรอะไรสักอย่างมันคงไม่ง่ายนัก ทุกอย่างจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานความรู้และข้อเท็จจริงต่างๆ แต่หากท่านตัดสินใจดีแล้วก็จงลงมือทำ ด้วยความขยันมั่นเพียร ผลสัมฤทธิ์ก็จะมาสู่ตัวท่าน…อย่างแน่นอน
daoinka
ขอขอบคุณ : นิตยสารเกษตรวาไรตี้ รู้แล้วรวย และทุกท่านที่ช่วยกันให้คำตอบ

туры в шриланку

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ค้นหาคำตอบ “ถั่วดาวอินคา” น่าปลูกจริงหรือ???