ปิดเมนู
หน้าแรก

คิดอยากไปทำงานต่างประเทศ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร

เปิดอ่าน 16 views

คิดอยากไปทำงานต่างประเทศ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

การไปทำงานต่างประเทศ ถือเป็นเป้าหมายที่กำลังมาแรงมากในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างที่ค่อนข้างน่าสนใจ การได้ประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ ในต่างแดน รวมถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในสภาพที่คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า
ซึ่งปัจจุบันหากคุณมีความต้องการที่จะเดินทางไปทำงานต่างแดน วิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ถือว่าง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก อย่างไรก็ดี ก็มีรายละเอียดยิบย่อนที่เราต้องให้ความสำคัญอยู่มากเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กจบใหม่หัวใจอินเตอร์ คนที่ยังว่างงาน หรือคนทำงานที่อยากเปลี่ยนงานไปทำตามความฝันและก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง

การจะไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายและได้งานสุจริต ทุกคนทราบดีว่า “ภาษา” เป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อโอกาสในการหางาน รวมถึงการดำรงชีวิตในต่างแดน ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ยากจนเกินไปสำหรับผู้ที่ไม่มีทักษะทางภาษา เพราะยังมีกลุ่มงานที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลักรองรับอยู่บ้างในหลาย ๆ ประเทศ ดังนั้น หากมีความคิดที่อยากจะไปทำงานต่างประเทศ ควรต้องเริ่มต้นจากตรงไหน และต้องทำอย่างไรบ้างให้ได้ไปทำงานอย่างถูกวิธีและถูกกฎหมาย

ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ “สิ่งที่ควรรู้”

เริ่มจากขั้นตอนการศึกษาหาข้อมูลที่ควรรู้ ตั้งแต่วิธีที่จะได้ไปอย่าง “ถูกกฎหมาย” ซึ่งมีอยู่ 5 วิธี ได้แก่ บริษัทจัดหางานส่งไป กรมการจัดหางานส่งไป นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน และผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานติดต่อหางานเอง

การจะไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเลือกเดินทางไปประเทศใด เรื่องของ “ภาษา” ก็เป็นสิ่งที่ต้องสำรวจว่าตนเองมีความสามารถในการใช้ภาษาอยู่ในระดับที่สื่อสารกับผู้คนในประเทศนั้น ๆ ได้แค่ไหน หลัก ๆ คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม (ที่สี่) ในกรณีที่ประเทศนั้น ๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ สภาพความเป็นอยู่ในประเทศนั้น ๆ หรือบริเวณที่จะไปอาศัยอยู่ นี่คือข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องหาข้อมูลคร่าว ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ จะไปนานแค่ไหน ระยะสั้นหรือระยะยาว รวมถึงเรื่องของค่าครองชีพและเงินทุนด้วยว่ามีมากพอที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศหรือไม่ เพราะจริง ๆ แล้วต้องคำนวณเรื่องเงินในบัญชีขั้นต่ำ ซึ่งเป็นหลักฐานทางการเงินในการขอวีซ่าด้วย

หางานในตำแหน่งที่ต้องการ

เมื่อได้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ พร้อมทั้งมีแผนการคร่าว ๆ แล้ว ก็เริ่มหาตำแหน่งงานที่ต้องการทำงานต่อได้เลย โดยให้เผื่อใจไว้ก่อนด้วยการจะหางานในตำแหน่งที่อยากได้จริง ๆ กับเงินเดือนที่ต้องการนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก (งานในประเทศยังยากเลย) โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีทักษะทางภาษา หรือไม่ได้จบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้น ๆ งานที่เปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาร่วมงานได้จะค่อนข้างมีจำกัด

ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยให้การหาตำแหน่งงานต่าง ๆ ง่ายขึ้น เริ่มต้น แนะนำให้ไปฝากประวัติของตนเองไว้ที่ LinkedIn ก่อน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหางานที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ในฐานะของสื่อกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ถ้าประวัติเราดี น่าสนใจ ฝ่ายบุคคลของที่นั่นก็อาจเป็นฝ่ายติดต่อมาหาเราเอง โดยที่เราไม่ต้องส่งใบสมัครไปก็ได้ หรือจะลองเปิดเว็บไซต์อื่น ๆ เช่น Glassdoor, Careerbuilder, Idealist (งานด้านอาสาสมัคร), Jobs Abroad, Transitions Abroad, Craigslist, Monster, InterExchange, Jobplanet (เกาหลี), Jobs in Japan, Daijob และ Gumtree

นอกจากนี้ยังหาได้ตามงาน Job Fairs ที่มักจัดขึ้นทุกปี จะมีพวกบริษัทต่างประเทศและบริษัทจัดหางานมาออกบูธรับสมัครคนไปทำงานต่างประเทศ เข้าเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน หรือจะติดต่อผ่านนายหน้าหรือบริษัทจัดหางานก็ได้ ต้องเช็กให้ดีว่าเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐานและการรับรอง ตรวจสอบรายละเอียดและสัญญาการจ้างงานให้ดีจะได้ไม่ถูกหลอก และจะไม่ถูกส่งไปอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งบริการนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินเรื่องให้กับบริษัทนั้น ๆ

ส่งใบสมัคร

เมื่อได้ตำแหน่งงานที่ต้องการจะสมัครแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการส่งใบสมัครออนไลน์ หากคุณเป็นสมาชิกของเว็บไซต์หางานอยู่แล้ว ฝากประวัติไว้แล้ว แนบเรซูเม่เรียบร้อย การส่งใบสมัครก็จะไม่ต่างจากการสมัครงานในไทยผ่านเว็บไซต์หางานเท่าไรนัก แต่ถ้าต้องส่งใบสมัครผ่านอีเมล ก็ต้องเรียนรู้วิธีการสมัครงานในประเทศนั้น ๆ ก่อนว่ามีอะไรที่ควรทำอะไรไม่ควรทำตามวัฒนธรรมของแต่ละที่ อะไรที่จำเป็นต้องส่งแนบไปด้วย หรือพวกรายละเอียดในการดำเนินการเพื่อเดินทางไปประเทศนั้น ๆ ซึ่งก็จะไม่ต่างจากการสมัครงานผ่านอีเมลในไทยเท่าไรเช่นกัน

เตรียมการสัมภาษณ์

หากประวัติของคุณน่าสนใจจนผ่านการพิจารณาไปจนถึงรอบที่ลึกเข้าไปอีก หรือก็คือรอบสัมภาษณ์ บริษัทต่างชาติหลายแห่งยินดีที่จะจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเพื่อให้คุณบินไปสัมภาษณ์งานโดยตรง เหมือนที่คุณต้องเข้าไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทในไทยนั่นแหละ แต่ทุกวันนี้ก็อาจไม่จำเป็นต้องลำบากข้ามน้ำข้ามทะเลบินไปสัมภาษณ์ถึงต่างประเทศ เพราะเรามีเทคโนโลยีสุดทันสมัยที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการสัมภาษณ์ทางออนไลน์แทน แค่มีแอคเคาท์ของเว็บไซต์หรือแอปฯ ที่ใช้งานในด้านนี้

ทว่าสิ่งที่ต้องระวังก็คือ ต้องคอยเช็กวันและเวลาในการนัดสัมภาษณ์ให้ดี เนื่องจากเวลาบ้านเรากับต่างประเทศไม่ตรงกัน จากนั้นก็ปฏิบัติให้เหมือนกับถูกเรียกไปสัมภาษณ์โดยตรงเลย เตรียมความพร้อมให้ดี ศึกษาเกี่ยวกับพวกข้อผิดพลาดที่มักเจอบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไว้ก่อน รวมถึงฝึกทักษะทางการใช้ภาษาอังกฤษ (หรือภาษาอื่น) ให้ดี

ดำเนินขั้นตอนเรื่องเอกสารตามกฎหมายทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง

เมื่อคุณผ่านขั้นตอนการสมัครงานทั้งหมดและได้รับการตอบรับจากบริษัทแล้วว่าเขาจะรับคุณเข้าทำงาน ขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ การดำเนินตามขั้นตอนตามกฎหมาย อย่าง “การขอวีซ่าและใบอนุญาตเข้าทำงาน” ถ้าไม่มีเอกสารในส่วนนี้แล้วล่ะก็ คุณจะกลายเป็นคนที่ลักลอบเข้าไปทำงานในประเทศนั้น ๆ อย่างผิดกฎหมายทันที ถูกส่งกลับประเทศและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แทนที่จะมีการมีงานดี ๆ ทำ กลับต้องกลายเป็นคนมีคดีติดตัว หรือโดนหลอกโดยไม่รู้ตัวในกรณีที่ติดต่อผ่านนายหน้า จึงต้องรอบคอบและเช็กรายละเอียดให้ครบถ้วนอย่าให้ขาดตกบกพร่อง

สำหรับหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการขอวีซ่าและใบอนุญาตเข้าทำงานนั้น สามารถเปิดอินเทอร์เน็ตหาได้เลยว่าต้องใช้อะไรบ้าง โดยทั่วไปก็จะใช้เอกสารคล้าย ๆ กัน คือ มีหลักฐานทางการเงิน (เงินหมุนเวียนในบัญชีขั้นต่ำ) เอกสารการตรวจร่างกาย ประวัติอาชญากรรม หนังสือเดินทาง และต้องเตรียมเรื่องการสัมภาษณ์อีกครั้ง เนื่องจากต้องเดินทางไปสัมภาษณ์ที่สถานกงสุลหรือสถานทูตของประเทศนั้น ๆ นี่จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะแต่ละประเทศจะมีกฎเข้า-ออกประเทศที่เข้มงวด

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : คิดอยากไปทำงานต่างประเทศ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร