ปิดเมนู
หน้าแรก

คลอดแล้ว! สูตรปลาร้ามาตรฐาน-อธิบายส่วนประกอบละเอียดยิบ

เปิดอ่าน 351 views

คลอดแล้ว! สูตรปลาร้ามาตรฐาน-อธิบายส่วนประกอบละเอียดยิบ

คลอดแล้ว! สูตรปลาร้ามาตรฐาน-อธิบายส่วนประกอบละเอียดยิบ เกี่ยวกับ ข่าวเศรษฐกิจ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กำหนดสูตรปลาร้ามาตรฐาน แจงส่วนประกอบ อธิบายผลิตภัณฑ์ปลาร้าละเอียดยิบ

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้า: ปลาร้า ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปลาร้า เป็นมาตรฐานทั่วไป ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2561 รมว.เกษตรและสหกรณ์จึงออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร: ปลาร้า มกษ. 7023-2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีขอบข่ายคือมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ใช้กับปลาน้ำจืด หรือปลาทะเล บรรจุในภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน ไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่ผ่านการแปรรูป ปลาร้าดิบในมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ควรนำไปปรุงสุกก่อนการนำไปบริโภค

 

นอกจากนี้ ในประกาศฯ ยังได้แสดงคำอธิบายผลิตภัณฑ์ปลาร้า (Pla-ra, fermented fish, salt-fermented fish) ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลาที่ไม่มีพิษ ไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับการบริโภค โดยทั่วไปทำจากปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาเบญจพรรณ หรือปลาทะเล เช่น ปลาจวด ปลาไล้กอ หรือปลาปากคม

โดยขอดเกล็ด ควักไส้ หมักกับเกลือโซเดียมคลอไรด์ แล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือ ข้าวคั่ว ที่ใหม่ สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน และไม่มีแมลง เช่น มอด และชิ้นส่วนของแมลง รวมทั้งสิ่งแปลกปลอม เช่น กรวด ทราย เส้นผม และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน เช่น ถัง, โอ่ง, บ่อที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิดในระยะเวลาที่เหมาะสม ก่อนบรรจุในภาชนะ

 

ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะเป็นตัวหรือชิ้น เนื้อปลานุ่ม มีสีตามลักษณะปกติของผลิตภัณฑ์ มีกลิ่น และรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะ (Characteristic) ของปลาร้า ต้องไม่แห้ง แฉะ หรือเละเกินไป เนื้อปลาต้องนุ่ม สภาพผิวคงรูป หนังไม่ฉีกขาด สีปกติตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า เนื้อปลามีสีชมพูอ่อน หรือสีอื่น เช่น เหลืองอ่อน ส้มอ่อน น้ำตาลอ่อน กลิ่นต้องหอมตามลักษณะเฉพาะของปลาร้า ไม่มีกลิ่นอื่นที่ไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นคาว กลิ่นอับ กลิ่นหืน กลิ่นสาบ และกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นเปรี้ยวบูด ต้องไม่มีพยาธิ ต้องไม่มีชิ้นส่วนสัตว์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ปลาอยู่ในนั้น ในฉลากบรรจุภัณฑ์ต้องไม่มีปลาประเภทอื่นเกินร้อยละ 5 ที่แจ้งไว้ในฉลาก เป็นต้น

เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมืองที่มีการขยายตัวของการผลิตอย่างต่อเนื่อง จากระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็กไปเป็นขนาดกลางและใหญ่ที่ระดับการผลิตสูงถึง 40,000 ตันต่อปี และเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โอท็อปที่สำคัญ มีมูลค่าตลาดในประเทศกว่า 800 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกไปยังต่างประเทศ มีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ลาว เวียดนาม กัมพูชา และทวีปอื่น ๆ ที่มีคนไทยอาศัยอยู่ รวมมูลค่าปีละกว่า 20 ล้านบาท จึงเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรฐานทั่วไปขึ้นมาใช้กำกับและควบคุมดูแลคุณภาพ เพื่อขยายตลาดปลาร้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ

ปัจจุบัน ปลาร้าเป็นสินค้าที่ไม่ควบคุมในการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าประเทศผู้นําเข้าต้องการการรับรองเกี่ยวกับเรื่องใด ผู้ส่งออกต้องไปขอใบรับรองก่อนการส่งออก

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : คลอดแล้ว! สูตรปลาร้ามาตรฐาน-อธิบายส่วนประกอบละเอียดยิบ