ปิดเมนู
หน้าแรก

กินหวานแต่ไม่อดเปรี้ยว: อุปสรรคในการวางแผนการเงินและชีวิต

เปิดอ่าน 292 views

กินหวานแต่ไม่อดเปรี้ยว: อุปสรรคในการวางแผนการเงินและชีวิต

กินหวานแต่ไม่อดเปรี้ยว: อุปสรรคในการวางแผนการเงินและชีวิต

Stock2morrow

สนับสนุนเนื้อหา

คนไทยประมาณ 70 ถึง 80% ออมเงินไม่พอสำหรับวัยเกษียณ (http://www.thansettakij.com/content/55029) ผลสำรวจของเมนูไลฟ์ในหมู่นักลงทุนในกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งน่าจะครุ่นคิดถึงการวางแผนการเงินมากกว่าประชากรทั่วไปก็ยังพบว่ากว่าครึ่งคิดว่าตนมีเงินออมไม่พอสำหรับวัยเกษียณ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็พบว่าในขณะที่คนไทยออมน้อยลงนั้น การบริโภคมีแต่จะโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคประเภทอาหารการกิน เสื้อผ้า ส่วนการบริโภคในด้านการศึกษากลับหดตัวลง

ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอัตราดอกเบี้ยตกต่ำมานาน ตลาดหุ้นก็นิ่งๆ มาหลายปี แรงจูงใจในการตัดใจไม่บริโภควันนี้แล้วเอาไปออมหรือลงทุนจึงมีไม่มากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนมันเป็นเพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจของคนเราเองด้วย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราตัดสินใจวางแผนการเงินและชีวิตได้ไม่ดีพอ คือการที่เราให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากเกินไปจนเกิดการผลัดวันประกันพรุ่ง (ไปเรื่อยๆ) แทนที่เราจะใจเย็นยอมเก็บออมวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่ามากๆ ในวันข้างหน้า เรากลับมักเลือกดื่มด่ำกับความสุขเล็กๆ วันนี้แทน (ซึ่งทำให้เราอดได้ผลตอบแทนขนาดใหญ่กว่าในอนาคต) และหากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ท้ายสุดแล้วในระยะยาวเราจะหันกลับมามองอดีตแล้วพบว่าเราตัดสินใจผิดพลาดแบบเล็กๆ น้อยๆ มาโดยตลอด

บทความนี้จะอธิบายถึงความลำเอียงทางเวลาอย่างหนึ่งที่มีส่วนทำให้เราตัดสินใจได้ไม่ดีนักและแนะนำ 3 วิธีต่อกรกับมันเพื่อชีวิตที่ดีกว่าครับ

รู้จักกับความลำเอียงทางเวลา

การทดลองนับครั้งไม่ถ้วนพบว่า หากถามว่าคนเราว่าอยากได้เงิน 1000 บาทวันนี้ หรือ 1200 บาทวันพรุ่งนี้ คนส่วนมากจะเลือกตัวเลือกแรก (1000 บาทวันนี้) แต่ถ้าถามอีกทีว่าคุณอยากได้เงิน 1000 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า หรือ 1200 ในอีก 1 ปีกับอีก 1 วันข้างหน้า คนส่วนมากกลับเลือกตัวเลือกที่สอง (1200 บาท ในอีก 1 ปี 1 วันข้างหน้า)

สังเกตไหมครับว่าแม้ว่าระยะเวลาที่เว้นให้รอระหว่างตัวเลือกที่หนึ่งกับตัวเลือกที่สองมันเท่ากันในสองคำถาม (ให้รอ 1 วัน) คนส่วนมากจะเลือกทางเลือกที่มีผลตอบแทนเล็ก (1000 บาท) เวลามันใกล้ปัจจุบัน แต่จะใจเย็นยอมรอรับผลตอบแทนใหญ่ (1200 บาท) เมื่อมันอยู่ห่างไกลออกไปในอนาคต

คนเรามักลำเอียง ชอบความสุขเล็กๆ ใกล้ๆ มากกว่าความสุขใหญ่ๆ ไกลๆ

ความลำเอียงทางเวลานี้นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกมันว่า hyperbolic discounting ซึ่งเป็นหนึ่งในความลำเอียงที่มีส่วนทำให้พวกเราตัดสินใจได้ไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจะเป็นการติดหนี้บัตรเครดิต ดองงานไว้ทำอาทิตย์หน้า อู้ไม่ยอมออกกำลังกาย กินฟาสต์ฟู้ดเวลาเหนื่อยๆ เลื่อนวันที่จะเริ่มทำไดเอทใหม่ออกไป รวมไปถึงเวลาเราไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายหรือไม่สามารถสร้างนิสัยออมเงินของตัวเองได้เวลาเงินเดือนเพิ่งออก ทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร

จะอยู่กับ hyperbolic discounting ยังไง?

หากคุณเป็นคนที่ตกเป็นเหยื่อ hyperbolic discounting อยู่เป็นประจำ ก็ขอให้ทราบไว้ว่าไม่ต้องเป็นห่วงนัก เพราะมันเป็นธรรมชาติ สมองมนุษย์วิวัฒนาการมาให้เราชอบฉวยเอาความสบายในปัจจุบันแบบชัวร์ๆ แทนที่จะรออดเปรี้ยววันนี้ ไว้เพื่อกินหวานวันข้างหน้า

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะต้องยอมจำนนต่อพฤติกรรมนี้ตลอดไป ยังพอมีวิธีที่จะทำให้เรากลับมาตัดสินใจให้ดีขึ้นในระยะยาวได้

วิธีแรก คือ พยายามเอาตัวเองออกจากการตัดสินใจประเภทนี้ พูดง่ายๆ ก็คือหากสู้ไม่ได้ก็ไม่ต้องสู้กับความลำเอียงนี้เลยเสียดีกว่า เนื่องจากเรารู้อยู่ว่าหากเราต้องเผชิญกับตัวเลือกจำพวก “วันนี้หรือวันพรุ่งนี้”อยู่เป็นประจำ สมองเราจะลำเอียงไปเลือกการดื่มด่ำวันนี้หรือเลื่อนความเหนื่อยยากออกไปไกลๆ เสมอ

คำแนะนำของผู้เขียนก็คือเราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เราต้องตกที่นั่งลำบากนี้ตั้งแต่แรก ยกตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้มีทางเลือกมากมายให้เราสามารถตัดเงินส่วนหนึ่งออกจากเงินเดือนเพื่อเอาไปเป็นเงินออมวัยเกษียณแบบอัตโนมัติได้ แม้ว่าจะต้องกรอกเอกสารเพิ่มนิดหน่อยในวันแรก แต่มันคุ้มค่าในระยะยาวมากเนื่องจากคุณจะไม่ต้องเผชิญคำถามว่า “จะออมเงินที่เพิ่งออกมาหรือจะเอาไปซื้อของดี” อีกเลย

วิธีที่สอง คือ พยายามทำความคุ้นเคยกับตัวคุณในอนาคตให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจคิดถึงอนาคตให้มากๆ เพื่อให้อนาคตดูห่างไกลน้อยกว่าที่มันเป็น หรือจะเป็นการจินตนาการรูปลักษณ์ของตัวเองในอนาคต มีงานวิจัยชื่อดังที่พบว่าแค่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเห็นภาพที่ถูกตัดแต่งให้พวกเขาดูแก่ลง (ก็คือให้มองภาพตัวเขาในอนาคตนั่นแหละ) พวกเขาเลือกที่จะโยกเงินไปออมเพื่อวัยเกษียณมากกว่ากลุ่มนักศึกษาที่ไม่ได้เห็นภาพในอนาคตเกินสองเท่า (https://hbr.org/2013/06/you-make-better-decisions-if-you-see-your-senior-self) สงสัยถึงเวลาที่คุณจะกลับไปดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทำหน้าให้แก่อีกทีแล้วล่ะครับ

วิธีที่สาม คือ พยายามสังเกตและไม่ตกเป็นเหยื่อยุทธศาสตร์การตลาดที่ใช้ประโยชน์จากความลำเอียงทางเวลาของคุณ โมเดลธุรกิจของบัตรเครดิต หรือ โปรโมชั่นขายสินค้าที่เน้นว่า “ยังไม่ต้องจ่ายเงินวันนี้” เข้าข่ายยุทธศาสตร์การตลาดที่มนุษย์เดินดินอย่างเราสามารถเข้าไปติดกับได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเรามักโหยหาความสุขโดยจ่ายน้อยวันนี้ ส่วนความทุกข์ (ที่ต้องจ่ายเงินในที่สุด) เราชอบผลัดไปในอนาคต ดังนั้นเราควรตั้งสติและคิดให้ดีว่าที่จริงเราต้องการสินค้านั้นในวันนี้จริงๆ หรือไม่

คนเรามักจินตนาการตัวตนในอนาคตในรูปแบบที่ดีงามที่สุด หุ่นดี ร่างกายแข็งแรง กินผักผลไม้ มีแผนการเงินดีที่ออกดอกออกผลมาเป็นเวลานาน เรียกได้ว่าเป็น “คนที่เราหวังจะเป็น”

แต่ต้องไม่ลืมว่าเราในวันนี้กับเราในวันข้างหน้าก็คือคนคนเดียวกัน หากไม่ตั้งใจต่อกรกับความลำเอียงทางเวลาตั้งแต่เนิ่นๆ ตัวตนอันดีงามที่เราเคยวาดฝันไว้อาจเป็นได้แค่จินตนาการครับ

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com 
บทความจากทีม content ของ stock2morrow โดยคุณ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : กินหวานแต่ไม่อดเปรี้ยว: อุปสรรคในการวางแผนการเงินและชีวิต