ปิดเมนู
หน้าแรก

การทำงานแบบไฮบริดคืออะไร? คนทำงานต้องปรับตัวกันแค่ไหน

เปิดอ่าน 23 views

การทำงานแบบไฮบริดคืออะไร? คนทำงานต้องปรับตัวกันแค่ไหน

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เดินทางมาถึงปีที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จน ณ เวลานี้คงต้องบอกว่าชีวิตวิถีใหม่หรือ New Normal นั้นไม่ใหม่สมชื่ออีกต่อไป เพราะมันเป็นวิถีชีวิตปกติที่เราต้องปฏิบัติกันอย่างเป็นธรรมดาในทุกวัน พูดอีกนัยหนึ่งก็คือตั้งแต่วันที่โลกได้รู้จักกับชีวิตวิถีใหม่นั้น อาจจะกลายเป็นการบอกลาวิถีชีวิตก่อนที่ COVID-19 จะระบาดไปตลอดกาลเลยก็ได้ แบบว่าเราคงจะไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นกันอีกแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในหลาย ๆ ด้าน ที่ชัดเจนมาก ๆ สำหรับคนวัยทำงานอย่างเรา ๆ ที่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ โลกของการทำงานที่เปลี่ยนไป

รูปแบบการทำงานของเราในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีอยู่ 2 แบบ คือการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home และกลับเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิมในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น หลาย ๆ คนเปลี่ยนรูปแบบชีวิตไป ๆ มา ๆ แบบนี้ไม่ต่ำกว่า 3 รอบแล้ว พอสถานการณ์ดีก็เดินทางไปออฟฟิศ แต่พอสถานการณ์แย่ลงก็กลับมานั่งทำงานจากที่บ้านเหมือนเดิม

การที่เราต้องปรับไปเปลี่ยนมาแบบนี้ ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคต ไม่ว่า COVID-19 จะหมดไปจากโลกนี้แล้วหรือไม่ รูปแบบการทำงานของมนุษย์จะเปลี่ยนไปเอง จากแต่ก่อน ก่อนที่จะมีโรคระบาด ออฟฟิศเป็นสถานที่ทำงานในทุกวันของใครหลาย ๆ คน ในช่วงที่โรคระบาด เราถูกบังคับให้ทำงานจากที่บ้าน แต่จากนี้ไปจะเกิดการทำงานในลักษณะที่ผสมผสาน ก็คือจะไปทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ จะทำงานจากที่บ้านก็ได้ หรือจะไปทำงานจากที่ไหนก็ได้ นี่คือการทำงานในรูปแบบไฮบริด หรือ Hybrid Working นั่นเอง ที่กำลังเป็นที่พูดถึงทั่วไปในทุกวันนี้

การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working)

เป็นการทำงานรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หลาย ๆ บริษัทเริ่มมีการวางแนวทางการทำงานรูปแบบนี้ไว้บ้างแล้ว คือ การทำงานที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน และทุกคนสามารถทำงานได้จากที่บ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) โดยอาจจะมีการแบ่งจำนวนวันในสัปดาห์ว่าพนักงานต้องเข้าออฟฟิศกี่วัน และทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ ได้กี่วันต่อสัปดาห์ แทนที่การทำงานที่เราต้องเข้าออฟฟิศทุกวันที่เป็นวันทำงาน ให้อิสระกับพนักงานได้มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน

รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดนี้เริ่มได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมันมีความอิสระและยืดหยุ่นต่อคนทำงาน ที่สำคัญคือเราพิสูจน์กันมาแล้วว่าไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวันเราก็สามารถทำงานกันได้ (แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องทำ) ถึงอย่างนั้น การจะเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ก็ต้องมองให้เห็นถึงความท้าทายอื่น ๆ ซึ่งมันคงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

ในอดีต การทำงานจะมีแค่การที่พนักงานทุกคนต้องเดินทางไปยังออฟฟิศ ที่เป็นสถานที่ทำงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม กับอีกแบบคือองค์กรที่ทำงานแบบระยะไกลอยู่แล้ว การทำงานแบบไฮบริด ก็คือการผสานรูปแบบการทำงาน 2 แบบนี้เข้าด้วยกัน พนักงานจะมีโอกาสเลือกว่าจะทำงานในรูปแบบไหนมากกว่าการให้องค์กรเป็นตัวกำหนด เพราะหลังจากได้ลองทำงานจากที่บ้านกันนานหลายเดือน หลายคนรู้สึกว่าการทำงานที่บ้านช่วยให้มีสมาธิมากกว่าที่ออฟฟิศ แน่นอนว่างานก็จะออกมาดีกว่าด้วย

ตอนที่ COVID-19 ระบาดหนัก ๆ จนต้องออกกฎให้พนักงานบางส่วนทำงานจากที่บ้าน เหลือเพียงแค่คนที่จำเป็นต้องทำงานหลักในออฟฟิศเท่านั้นที่ยังต้องเข้าออฟฟิศ พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเท่านั้น พนักงานคนไหนแผนกไหนที่ทำงานจากที่บ้านได้ก็ทำ ในขณะที่งานก็ยังมีออกมาตามปกติ ทำให้หลังจากนี้องค์กรจะเริ่มวางแผนแล้วว่าพนักงานคนนี้แผนกนี้ สามารถทำงานจากที่บ้านได้ในบางวัน ก็ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้

นั่นหมายความว่าองค์กรจะให้ทางเลือกกับพนักงานว่าต้องการจะทำงานในรูปแบบไหน จะทำงานที่บ้าน จะเข้าออฟฟิศ หรือเป็นแบบไฮบริด ที่เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศเท่านี้วันต่อสัปดาห์ ส่วนวันทำงานที่เหลือก็ทำงานจากที่บ้าน ซึ่งก็หมายความว่าเราจะมีส่วนร่วมในการออกแบบการทำงานของตนเองไม่มากก็น้อย

เพราะการทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นไม่ได้เป็นปัญหา

แม้ว่าในช่วงแรก ๆ ที่ต้องทำงานที่บ้าน พนักงานหลายคนจะมีปัญหาที่ต้องปรับตัว เพราะเมื่อต้องมาทำงานจากบ้านกันจริง ๆ จัง ๆ หลายคนรู้สึกว่าประสิทธิภาพการทำงานของตนเองลดลง ประสิทธิผลในงานก็ลดลงด้วย เพราะบ้านหรื่อที่พักอาศัย สภาพแวดล้อมหลาย ๆ อย่างมันไม่เหมาะกับการนั่งทำงาน แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ปัญหาที่ว่าก็ดีขึ้นจนไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป อันที่จริงการทำงานที่บ้านก็มีข้อดีอยู่หลายส่วน พนักงานเริ่มปรับตัวได้และเคยชินกับการทำงานที่บ้าน อีกทั้งการที่ต้องกลับไปกลับมา เดี๋ยวเข้าออฟฟิศเดี๋ยวทำงานที่บ้าน หลายคนก็ปรับตัวได้แล้วเช่นกัน

ในช่วงที่เราทำงานที่บ้านกันยาวนานหลายเดือน องค์กรแต่ละแห่งมีการวัดผลการทำงานของคนทำงานอยู่แล้ว เมื่อเห็นว่าหลาย ๆ คนสามารถรักษามาตรฐานการทำงานได้ดีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้บังคับบัญชามากเท่ากับการทำงานที่ออฟฟิศ ก็แปลว่าคนกลุ่มนี้สามารถควบคุมตนเองได้เป็นอย่างดี ถ้าไม่จำเป็น พวกเขาก็ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้ อาจมีการกำหนดให้เข้าออฟฟิศแค่ 3 วันต่อสัปดาห์อีก 2 วันที่เหลือก็ทำงานจากที่บ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ที่คิดว่าสามารถทำงานได้ดีที่สุด หรือกำหนดเข้าออฟฟิศเฉพาะวันที่มีประชุม

ส่วนพนักงานในยุคใหม่นั้นก็มุ่งเน้นหาวิธีพัฒนาทักษะความสามารถของตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการทำงาน นอกจากนั้นก็เพื่อพิสูจน์ให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าตนเองสามารถทำงานจากที่บ้านได้ เพื่อที่ให้ผู้บังคับบัญชาที่ไม่สามารถติดตามดูการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาได้เหมือนเดิมจะได้เชื่อใจการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา นี่เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการพิสูจน์ตนเองของคนวัยทำงาน รวมถึงยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ตนเองในอนาคต

หลายองค์กรจึงเริ่มหันมาพิจารณาปรับรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยดึงจุดเด่นของการทำงานจากที่บ้านและออฟฟิศออกมาเข้าไว้ด้วยกัน ให้ออฟฟิศเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการทำงานที่จำเป็นต้องทำร่วมกัน การประชุม การวางแผนงานที่ต้องการไอเดียจากหลาย ๆ คนมากกว่า ถ้าไม่ใช่งานลักษณะนี้ก็ทำงานอยู่บ้านไป องค์กรต่าง ๆ จึงเริ่มวางแผนการทำงานแบบไฮบริดในระยะสั้นไว้บ้างแล้ว สำหรับระยะยาวก็ต้องดูว่าจะตอบสนองความต้องการของพนักงานและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันดีแค่ไหน

การทำงานแบบไฮบริดจะยั่งยืนหรือไม่

อาจมีคำถามว่าแล้วทำไมถึงไม่ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านไปเลย 100 เปอร์เซ็นต์ จะให้ทำงานแบบไฮบริด ต้องให้เข้าออฟฟิศอีกทำไม (แม้ว่าจำนวนวันไปออฟฟิศจะลดลง) นั่นเป็นเพราะการทำงานที่บ้านก็มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง หลัก ๆ คือ ขาดการมีปฎิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การไม่ได้เจอหน้าหรือมีกิจกรรมใด ๆ ทำร่วมกันเลย ทำให้ความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันมันไม่เชื่อมเข้าหากัน ปัญหาหมดไฟและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่บ้านเป็นเวลานาน จึงต้องให้พนักงานมาเจอหน้ากันบ้าง เปลี่ยนบรรยากาศจากที่บ้าน มาเข้าออฟฟิศอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์

ที่สำคัญที่สุด การทำงานจากที่บ้านไม่อาจสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์” ได้ เพราะความคิดสร้างสรรค์มักจะเกิดจากการระดมสมอง มีการปะทะกันทางความคิด มีการแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกัน เป็นความร่วมมือที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ยังจำเป็นต้องเจอหน้ากันบ้าง จึงจำเป็นต้องจัดให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศแต่ไม่ทุกวัน ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทว่าจะกำหนดเกณฑ์การเข้าออฟฟิศอย่างไร อาจจะกำหนดวันประชุม ตามหน้าที่ ทีมงาน ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานพร้อมกัน

ในเวลานี้ก็คงไม่สามารถตอบได้ว่าการทำงานแบบไฮบริดจะยั่งยืนแค่ไหน ทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และตามเห็นสมควร เพื่อให้ได้ความสะดวกในการทำงาน ตอบโจทย์การทำงานในอนาคต แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การทำงานแบบดั้งเดิมที่เคยเข้าออฟฟิศแบบ 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น จะไม่มีวันกลับไปเป็นแบบเดิมอีกแล้ว เพราะคนทำงานทั่วโลกตระหนักแล้วว่าไม่จำเป็น ผลงานที่ได้ต่างหากสำคัญกว่า

ออฟฟิศก็ยังจำเป็นอยู่นะ

แม้ว่าการทำงานแบบไฮบริดจะเน้นการทำงานในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศ ถ้าไม่มีธุระ ไม่มีนัดหมายการประชุม ก็ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ บางวันอาจไม่มีใครเข้าออฟฟิศเลยก็ได้ เพราะแยกย้ายกันไปทำงานตามสถานที่ที่ตัวเองอยากทำกันหมด แต่เราก็ยังต้องมีออฟฟิศอยู่ดี ถึงจะไม่ค่อยมีใครเข้ามาใช้งานทุกวันเหมือนเมื่อก่อน เพราะการทำงานแบบไฮบริดก็ยังต้องการพื้นที่ส่วนกลางให้พนักงานได้มาพบเจอกันอยู่ดี เป็นที่ประชุม เป็นที่ที่เปลี่ยนบรรยากาศจากการทำงานที่บ้าน ตรงที่ทำให้บทบาทของออฟฟิศลดลง การใช้งานของออฟฟิศจึงจะเปลี่ยนไป

ในเมื่อออฟฟิศไม่ได้มีคนเข้ามาใช้งานเต็มที่เหมือนแต่ก่อน พนักงานไม่ได้เข้าออฟฟิศกันทุกวัน อุปกรณ์สำนักงานหลาย ๆ อย่างอาจไม่จำเป็นที่ต้องมีเต็มขนาดพนักงานอีกต่อไป ออฟฟิศจึงสามารถปรับขนาดลดลงได้ เหลือแค่อุปกรณ์ที่จำเป็น เท่าที่พอใช้เวลาที่มีคนเข้ามาใช้ ลดขนาดพื้นที่ทำงานส่วนตัว เปลี่ยนเป็นโต๊ะทำงานส่วนกลางแบบ Hot Desk ใครมาก่อนก็ได้นั่งก่อนแทน และเพิ่มพื้นที่ที่เหมาะกับการประชุมไว้ให้มากขึ้น หรือบางที่อาจจะมีการปรับขนาดจากออฟฟิศขนาดใหญ่ลงมาให้เหลือเป็น Co-working space เพื่อประชุมงานหรือคุยงานเฉพาะทีมแทน

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : การทำงานแบบไฮบริดคืออะไร? คนทำงานต้องปรับตัวกันแค่ไหน