ปิดเมนู
หน้าแรก

“กัญชา” ไม่ได้กินได้ทุกคน ปรุงอาหารต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง!

เปิดอ่าน 43 views

“กัญชา” ไม่ได้กินได้ทุกคน ปรุงอาหารต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง!

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา


แม้ว่ากัญชาจะได้รับอนุญาตให้สามารถนำมาปรุงอาหารได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ถือเป็นการปลดล็อกเพียงบางส่วนเท่านั้น จากเดิมที่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 โดยกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้นำส่วนของ “ใบ” มาเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารได้ แต่ “ช่อดอกและเมล็ด” ยังถือเป็นยาเสพติด ให้ใช้ประโยชน์ได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น

ในอดีต คนไทยนำใบกัญชามาใช้ปรุงอาหารมาช้านานแล้ว และถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยชูรสให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น โดยมักนิยมใส่ในแกง ก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทผัดต่าง ๆ ซึ่งปริมาณที่ใช้ต่อ 1 หม้อมื้ออาหารจะอยู่ประมาณ 3 ยอด หรือ 5-8 ใบ

รู้จักสารออกฤทธิ์ต่าง ๆ ในกัญชา

จากข้อมูลของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ระบุว่าใบกัญชาจะมีสารออกฤทธิ์สำคัญ ได้แก่ Delta-9-Tetra-Hydrocanabinol (THC) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สารเมา” และสาร Canabidiol (CBD)  ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และในต่างประเทศนิยมใช้ในเมนูอาหาร

ทั้งนี้ กัญชาไทยจะมีสาร THC มากกว่า CBD โดยใบกัญชาแห้งสายพันธุ์ไทยจะมีปริมาณสาร THC  เฉลี่ย 1-2 มิลลิกรัม / ใบ ขณะที่ใบสดของกัญชา จะมีสาร Tetrahydrocannabinolic Acid (THCA) ซึ่งไม่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่หากถูกแสงหรือความร้อนจะทำให้เกิดกระบวกการเปลี่ยนแปลงจากสาร THCA เป็น THC ได้!

กัญชาไม่ได้กินได้ทุกคน!

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ใบกัญชาไม่ได้เป็นสมุนไพรที่สามารถรับประทานได้ในทุกเพศทุกวัย โดยไม่แนะนำในบุคคลดังต่อไปนี้

  • เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี
  • สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตร
  • ผู้ที่มีปัญตับและไตบกพร่อง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาซึ่งมีผลต่อระบบประสาท
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าข่ายก็ควรบริโภคในปริมาณน้อย ๆ เช่นกัน โดยแนะนำให้บริโภคไม่เกินวันละ 5 ใบ เพราะหากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจจะส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว), ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้าไป จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30-60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง – 3 ชั่วโมง ซึ่งเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร แนะนำว่าไม่ควรเริ่มต้นรับประมาณในปริมาณที่มาก และควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งกัญชายังคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 ชั่วโมง แต่อาจจะอยู่ในร่างกายได้นานกว่านั้นหากรับประทานบ่อย ๆ

ดังนั้น คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน ควรเริ่มในปริมาณที่น้อย ๆ สักครึ่งใบ – 1 ใบ/วัน ซึ่งจะมีปริมาณสาร THC  ประมาณ 1-2.5 มิลลิกรัม ถ้าได้รับปริมาณที่มากกว่านี้ อาจทำให้เกิดอาการสับสน และเสียการทรงตัวได้

และหากพบว่ามีผลข้างเคียงจากการบริโภคอาหารที่มีใบกัญชาเข้าไป เพจ “สมุนไพรอภัยภูเบศร” แนะนำให้หยุดทันที และดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือชารางจืด เพื่อบรรเทาอาการมึนเมา หรือหากปากแห้ง คอแห้ง ก็ให้ดื่มน้ำตามมาก ๆ

ปรุงอย่างไร? ให้อร่อยและปลอดภัย

ในการนำใบกัญชามาปรุงอาหารนั้น หากเป็นการปรุงอาหารด้วยน้ำจะมีสาร THC (สารเมา) ละลายอยู่น้อยมาก ต่างจากการทอดด้วยน้ำมันที่จะส่งผลให้สาร THC จากใบละลายอยู่ในน้ำมันส่วนหนึ่งด้วย หรือหากใช้ระยะเวลาปรุงนานสาร THCA ก็จะเปลี่ยนเป็น THC ได้สมบูรณ์ขึ้น

และหากใช้ใบแห้งซึ่งมีสาร THC อยู่แล้ว เมื่อผ่านความร้อนสูงหรือมีส่วนประกอบไขมันสูง และมีระยะเวลาในการปรุงนาน ก็จะยิ่งทำให้ปริมาณสาร THC เพิ่มขึ้นได้

แต่ถ้าอยากรับประทานให้อร่อยและปลอดภัย รพ.อภัยภูเบศรแนะนำว่าให้กินใบสด กินเป็นผัก หรือกินเป็นน้ำคั้นสด และควรกินแบบที่ไม่ผ่านความร้อน ๆ นาน ๆ เช่น การใส่ในเมนูผัดเหมือนใบกะเพรา

หากนำใบมาต้มตุ๋นเป็นน้ำแกง แนะนำให้กินแต่น้ำ ไม่กินใบที่ใส่ลงไป หรือถ้านำมาปรุงโดยผ่านความร้อน ก็ไม่ควรกินใบกัญชาทั้งใบเกิน 5-8 ใบ/วัน

ส่วนใครที่สนใจปรุงอาหารตามสูตรของ “มาชิมกัญ” โรงพยาบาลอภัยภูเบศรจัดทำคู่มือ CANNABIS Cook Book เพื่อรวบรวมสูตรอาหาร “ตำรับยิ้ม” ทั้งคาวและหวาน ให้ผู้ที่สนใจนำกัญชาไปเป็นส่วนผสมเพื่อจะได้ปรุงอย่างปลอดภัย โดยสามารถดาวน์โหลดได้ >> ที่นี่ และนี่คือส่วนหนึ่งของเมนูที่อยู่ในคู่มือเล่มนี้

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “กัญชา” ไม่ได้กินได้ทุกคน ปรุงอาหารต้องรู้วิธีที่ถูกต้อง!