ปิดเมนู
หน้าแรก

กฎหมายน่ารู้ที่ไม่ควรมองข้ามของผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิว

เปิดอ่าน 1,288 views

กฎหมายน่ารู้ที่ไม่ควรมองข้ามของผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิว

ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผิวและรักษาปัญหาผิวต่างๆจำพวก กระ ฝ้าออกมามากมาย รวมไปถึงบรรดาเครื่องสำอางประเภทต่างๆที่มีส่วนผสมสำหรับดูแลผิวด้วย ซึ่งบางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็เกิดมาจากการผลิตของบริษัทที่ขาดคุณภาพ หรือใช้สารเคมีต้องห้ามจนก่อให้เกิดอันตราย จึงมีกฎหมายสำหรับควบคุมคุณภาพของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวต่างๆขึ้น เพื่อลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนและเป็นการเตือนให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเหล่านี้

 

melasma2

 

และถึงแม้ว่าข้อกฎหมายจะดูเป็นเรื่องยุ่งยากไปบ้างสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ของใช้ใกล้ตัวอย่างครีมบำรุงผิวและเครื่องสำอางต่างๆ ผู้บริโภคก็ไม่ควรละเลยเพราะเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นและเป็นการป้องกันตัวเองจากผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพที่ผู้ผลิตอาจนำมาหลอกขายได้อีกด้วย

ในส่วนของทางกฎหมาย นิยามของผลิตภัณฑ์ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มของเครื่องสำอางและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายนั้น ในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ว่า คือ เครื่องประทินผิวต่างๆและผลิตภัณฑ์ที่มีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้ ถู ทา นวด พ่น โรย ใส่ หยอด อบหรือกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตามต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อความสวยงาม ส่งเสริมให้เกิดความสวยงามหรือความสะอาด แต่ไม่รวมเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัวหรือสิ่งอื่นๆที่ไม่ได้มีผลต่อโครงสร้างและทำหน้าที่ใดๆต่อร่างกาย

 

melasma

ส่วนประเภทของเครื่องสำอางที่ใช้กับผิวนั้น ก่อนหน้านี้ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามระดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ

1. เครื่องสำอางทั่วไป

ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ อย.จะไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลอย่างเข้มงวด และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องมาแจ้ง อย. ก่อนการผลิตหรือนำเข้า แค่ต้องมีฉลากที่แสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์เป็นภาษาไทยอย่างเป็นจริงและถูกต้อง เช่น แชมพู สบู่ แป้งทาหน้า น้ำหอมและครีมบำรุงผิวต่างๆก็สามารถลงมือผลิตและจัดจำหน่ายได้เลย ไม่ยุ่งยาก  

2. เครื่องสำอางควบคุม

ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ประมาณได้ว่าอาจก่อให้เกิดอันตรายในระดับปานกลาง อย.จะควบคุมดูแลมากขึ้น ต้องเข้ามาแจ้งอย.ก่อนการนำเข้าหรือผลิตทุกครั้งและมีการระบุข้อความว่าเป็นเครื่องสำอางควบคุมที่ฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด สารขจัดรังแค หรือพวกแป้งฝุ่นโรยตัวเป็นต้น  

3. เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ

ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่ใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอันตราย อย.จะกำกับดูแลเข้มงวด ต้องมีการมาขึ้นทะเบียนก่อนการผลิตหรือนำเข้า และบังคับให้ฉลากต้องระบุข้อความ เครื่องสำอางควบคุมพิเศษ และเลขทะเบียนในกรอบเครื่องหมาย อย. ด้วย ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ก็ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผมดัดผมหรือย้อมผมเป็นต้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการยกเลิกเครื่องสำอางประเภทควบคุมพิเศษออกไปแล้ว และให้นำเครื่องสำอางประเภทนี้ไปจัดรวมกับเครื่องสำอางควบคุมซึ่งเป็นเครื่องสำอางในกลุ่มที่ 2 แทนเพื่อความสะดวกในการส่งเสริมการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนบทลงโทษในเบื้องต้นที่ผู้บริโภคสามารถเอาผิดกับผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผลิตอย่างไม่ปลอดภัยและไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายได้ คือการถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่ เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้บริโภคที่ใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวหรือเครื่องสำอางต่างๆโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแล้วเกิดปัญหาขึ้น ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องขอค่าสินไหมทดแทนจากผู้ผลิตได้เลย โดยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางทั้งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ใส่สารต้องห้ามและหลอกลวงผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นทางด้านที่มา ส่วนผสม หรือแหล่งผลิต จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคซื้อมาใช้จนได้รับอันตรายนั้น จะมีโทษจำคุกถึง 3 ปีเพราะเป็นความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 271

ในปัจจุบันนี้ผู้บริโภคจึงมีความรอบคอบมากขึ้น มีการตรวจสอบฉลากทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกหลายรายที่ใส่ข้อมูลปลอมลงไปบนฉลากเพื่อจงใจให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านปริมาณ สภาพ แหล่งที่ผลิตและสาระสำคัญต่างๆ อย่างการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น สามารถรักษาฝ้า กระ และจุดด่างดำต่างๆได้ภายใน 3 วัน ในกรณีเช่นนี้ ผู้เสียหายสามารถแจ้งความเอาผิดสำหรับการกระทำผิดของผู้ผลิตได้ โดยมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าหากกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีกภายใน 6 เดือนหลังก่อเหตุ ต้องระวางโทษเพิ่มเป็น 2 เท่าคือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

How-to-solve-makeup-problem-S3

 

นอกจากนี้ในเรื่องของการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวหรือเครื่องสำอางต่างๆนั้น แม้จะไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาแต่ก็มี พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค ให้ผู้ใช้ได้อุ่นใจว่าการโฆษณาจะต้องอยู่ในหลักของความเป็นจริง ความถูกต้องและเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเท่านั้น ห้ามไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงเพราะจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคทันที

จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายที่ออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคมากมายจากการเอาเปรียบของผู้ผลิต ซึ่งการหลอกลวงนี้บางทีก็ไม่ได้หลอกมาที่ตัวผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้นแต่ยังหลอกไปถึงพ่อค้าแม้ค้าคนกลางที่รับซื้อเครื่องสำอางจากบรรดาผู้ผลิตมาด้วย ซึ่งถ้ามีการตรวจพบจากเจ้าหน้าที่ แม้จะไม่ใช่ผู้ผลิตโดยตรงแต่ผู้ขายก็นับว่ามีโทษเช่นกัน ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีพ่อค้าแม่ค้าได้หากผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเพื่อลบเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำหรือเครื่องสำอางต่างๆที่ซื้อมาไม่มีข้อความรายละเอียดสินค้าที่เป็นภาษาไทยครบตามกำหนด ฉลากไม่มีถูกต้อง หรือเครื่องสำอางนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ถูกสั่งห้ามจำหน่ายไปแล้ว ผู้ขายจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากจะเป็นกรณีที่ผู้ขายเองก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท โทษจะเบาลงมาเป็นระวางโทษปรับไม่เกิน 1 บาทแทนเป็นต้น

ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง สามารถรักษาสิทธิของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะมีกฎหมายรองรับและมีผลบังคับใช้อยู่อย่างชัดเจน ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีผู้ใดมารับผิดชอบอีกต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นผู้บริโภคเองก็ควรจะระมัดระวังในการซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวเหล่านี้ให้มากขึ้น โดยการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนซื้อว่ามีสารต้องห้ามเช่น ปรอทหรือไฮโดรควิโนน ที่ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนประกอบอยู่หรือไม่ หรือถ้าจะต้องการความมั่นใจก็สามารถนำไปทดสอบด้วยชุดทดสอบ ก็จะให้ผลที่ถูกต้องและชัดเจน ไม่ต้องเสี่ยงเอาสภาพผิวไปลองอีกต่อไป ส่วนผู้ที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรืออยากทรายรายชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการระบุถึงชื่อแบรนด์ของผลิตภัณฑ์เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคหลงเชื่อไปซื้อกันได้อีก

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ผลิตที่คิดจะเอาเปรียบผู้บริโภคอีกมากมายที่จ้องจะหาโอกาสขายผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพให้ ผู้ใช้จึงควรระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้าให้มากขึ้น ไม่เลือกเพียงเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อหวานๆหรือราคาผลิตภัณฑ์ที่ถูก เพราะเมื่อเกิดผลร้ายต่อผิวหน้าไปแล้วในบางรายก็ยากที่จะแก้ไขให้กลับมามีสภาพผิวดีได้ดังเดิม

 

face_mask_for_melasma

сковорода вок

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : กฎหมายน่ารู้ที่ไม่ควรมองข้ามของผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิว