ปิดเมนู
หน้าแรก

5 แนวโน้มอาชีพนิวมีเดีย ที่เด็กสื่อสาร+ไอทีต้องรู้

เปิดอ่าน 329 views

5 แนวโน้มอาชีพนิวมีเดีย ที่เด็กสื่อสาร+ไอทีต้องรู้

it-update1

การง่อนแง่นของวงการสื่อบ้านเรา ตั้งแต่การดิ้นรนของเครือผู้จัดการ ความขัดแย้งในเครือเนชั่น การลดเงินของเครือมติชน การปิดตัวของหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และนิตยสารอื่นๆ อีกหลายเล่ม รวมถึงผลพวงจากทีวีดิจิทัลที่ทำให้เจ้าพ่อเจ้าแม่สื่อ ต้องโดดไปหลบเลียแผล หรือยอมเฉือนเนื้อเพื่ออยู่รอดอย่างอมรินทร์ ยังมันยังไม่จบแค่นี้

ธุรกิจสื่อหลักดูเหมือนจะตกต่ำลงทุกวัน ขณะเดียวกันสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่พุ่งปรี๊ดในช่วงแรกก็ได้คู่แข่งรายใหม่ (ก็พวกที่ลาจากสื่อเก่านั่นแหละ) เติมเข้ามาในตลาดจนเกือบจะเต็ม ตอนนี้คงไม่อู้ฟู่ไปกว่าเดิมแน่นอน แล้วอย่างนี้ธุรกิจสื่อจะเป็นอย่างไรหละ

ยังไงอาชีพสื่อและการตลาดก็ยังเป็นอาชีพยอดฮิตของเด็กไทย อัตราการเรียนและการจบถือว่ามากโข เรียกว่าโอกาสที่จะได้ทำงานตามที่เรียนมาจริงยังยาก เพราะตอนนี้สื่อกระแสหลักมีแต่ลดไม่มีรับเพิ่ม สื่ออินเทอร์เน็ตก็ต้องการมืออาชีพที่เจ๋งและต้องบวกโชคเข้าไปด้วย

it-update2

จากการคร่ำหวอดทั้งในสื่อกระแสหลัก สื่ออินเทอร์เน็ต และใกล้ชิดผู้คิดค้นนวัตกรรมในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ผมขอฟันธง 5 เรื่องในวงการสื่อดังต่อไปนี้

1. ตลาดสื่อขององค์กรจะเติบโต ฟังดูแล้วอาจจะงง คำอธิบายคือ เมื่อก่อนสื่อจะทำหน้าที่ตัวแทนพูดคุยกับผู้บริโภคแทนองค์กรเจ้าของสินค้าและบริการ แต่พอเกิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีแฟลตฟอร์มให้ใช้ฟรี และที่สำคัญแพลตฟอร์มเหล่านั้นทำให้องค์กรต่างๆ เข้าถึงและสื่อสารโดยตรงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพอย่างมาก นั่นหมายถึง องค์กรก็เป็นสื่อมวลชนเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาใครอีกต่อไป

ดังนั้นงบประมาณค่าประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาที่จะผ่านสื่อเดิมก็สมควรลดลงไป และหันมาทำสื่อของตัวเองมากขึ้น ทีนี้แหละปัญหาใหญ่ เพราะองค์กรพวกนี้ไม่ได้ถูกฝึกให้มาทำสื่อเป็นอาชีพ เรียกง่ายๆ ว่า มีปากกา มีกระดาษแล้ว จะเขียนยังไงดี นี่จึงเป็นตลาดใหม่ เป็นตลาดที่คนสื่อสารมวลชนทั้งจบไปแล้วและยังไม่จบควรจะเหลียวมามอง ผมไม่อาจขยายความมากไปกว่านี้ เชื่อว่าใครมีหัวธุรกิจแค่ชี้ช่องก็มองเห็นโพรงกันแล้ว

2. นวัตกรรมใหม่ทางด้านสื่อสารจะยังไม่หยุดยั้ง เมื่อหลายปีก่อนการอบรมเกี่ยวกับเขียนยังไงให้ขายของได้ในเว็บอีคอมเมิร์ชยอดฮิตนี่เข้ามาเรียกเงินจากบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มือใหม่กันเพียบ พอมีเฟสบุ๊คส์ อินสตราแกรม ฯลฯ โผล่เข้ามาก็มีทริปเทคนิคการสื่อสารเข้ามาให้เราได้ปวดหัวกันอีก บอกได้เลยว่าแม้ในช่วงปีที่ผ่านมาตัวดังๆ ที่สร้างผลกระทบจะเริ่มนิ่ง ไม่มีแพลตฟอร์มใหม่มาท้าทายตำแหน่ง แต่นวัตกรรมใหม่ๆ กำลังเข้ามาอีก แม้กระทั่งแชมป์เก่าก็เปลี่ยนตัวเองไปอย่างมาก

เท่าที่ผมติดตามดูเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Chat Bot และตัวอื่นๆ กำลังแปลงกายลงมาให้เราได้ใช้งานกันในปี 2017 อีกหลายตัว เชื่อว่าจะสร้างความปวดหัวให้กับสถาบันการศึกษาที่สอนทางด้านสื่อสารมวลชนอีกอักโขเลยทีเดียว สิ่งที่ผมบอกได้ตรงนี้ก็คือ อย่ายึดติดกับของเดิมที่คุ้นเคยเป็นอันขาด

3. ปีแห่งการใช้ Social Monitoring กำลังมาณะนี้ในไทยมีคนทำซอฟต์แวร์ทางด้านนี้อยู่สองราย รายหนึ่งเป็น Start Up ที่สามารถ exit หรือขายกิจการของตัวเองไปได้แล้ว ซึ่งหมายความว่ามันทั้งทำเงินและถูกมองว่าเป็นอนาคตใหม่ที่สดใส องค์กรในไทยและทั่วโลกจะใช้ Tool หรือเครื่องมือประเภทนี้มาตรวจจับการกล่าวถึงเรื่องราวขององค์กรตัวเองบนโลกออนไลน์มากขึ้น

ดังนั้น อย่าคิดว่าการโพสอะไรเล่นๆ บนโลกออนไลน์จะไม่มีใครรู้ใครเห็น ขณะเดียวกันเมื่อเรารู้ว่าจะมีคนรู้คนเห็นสิ่งที่เราเขียนแน่ๆ จะแปรผันมันอย่างไรให้เป็นช่องทางทำมาหากินของตัวเอง อันนี้ต้องตัวใครตัวมัน แต่เชื่อว่าถ้าคิดดีๆ และรีบทำ คุณจะได้ทั้งเงินและกล่องแน่นอน

อ้อลืมไป ปีหน้าคุณจะได้เห็น tool ประเภท social monitoring ประเภทนี้ออกมาสู่ตลาดแข่งขันกันมากขึ้น ความเก่งของมันจะมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันยังเป็นแค่ tool ที่เชื่อว่าองค์กรทั้งหลายยังทำได้แค่ตรวจสอบ แต่การวางแผนงานรองรับกระแสแต่ละด้านยังคงไม่เวิร์คเท่าไหร่

4. อาชีพใหม่ทางด้านการสื่อสารจะมีความต้องการสูงขึ้น เมื่อหลายปีก่อนเรามี animator เรามีสุดยอด Computer Graphic และอื่นๆ พอมาปีนี้เรามี นักอินโฟกราฟิก เรามี You-tube Creator  เรามี DJ digital radio และอาชีพที่เกิดจากสื่อใหม่จำนวนมาก อาชีพพวกนี้กำลังฟักตัว และเป็นอาชีพที่บางอย่างปรับเปลี่ยนจากโลกเก่ามาสู่โลกใหม่ บางอาชีพก็เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน

ดังนั้นอย่าคิดพึ่งพาสถาบันการศึกษาให้ผลิตคนได้ตรงตามความต้องการของตลาด เพราะไม่มีทางทันแน่ แต่คุณควรจับ skill หรือความเชี่ยวชาญหลายๆ ด้านมารวมกัน และคิดค้นมันใหม่เพื่อใส่เข้าไปในช่องทางที่โลกดิจิตอลเปิดอยู่

อาชีพใหม่ทางด้านสื่อสารมวลชนที่อยากให้จับตา ก็อย่าง digital PR, Breaking Reporter, Professional Blogger และอีกหลายตัว ผมขอไม่อธิบายในที่นี้เพราะแต่ละตัวสามารถตีความได้หลากหลาย แล้วแต่มุมมองการสร้างอาชีพของแต่ละคน

5. Shot Film Creator ตลาดต้องการสูงมาก ปีสองปีนี้บอกเลยว่าแม้ตลาดหนังไทยจะดูวายลงเล็กน้อย ทีวีดิจิทัลที่ดูจะไม่รอดกัน หรือบอกได้ว่าตลาดสำหรับสายภาพเคลื่อนไหวที่เป็นกระแสหลักนั้นดูเหนื่อยเหลือเกิน แต่กระแสอินดี้นั้นไม่ตกเอาซะเลย แถมพุ่งปรี๊ดอย่างไม่น่าเชื่อ

หากไปนับการแข่งขันประกวดหนังสั้นในเมืองไทยตอนนี้เรียกได้เลยว่า บรรดาเด็กๆ ถูกแย่งตัวส่งเข้าประกวดกันเลยทีเดียว ธรรมชาติของหนังสั้นคือ ใช้กล้องอะไรถ่ายก็ได้ โทรศัพท์มือถือยังถ่ายได้เลย ถ่ายแล้วจะตัดต่อด้วยอะไรก็ได้ ไม่ต้องใช้สตูดิโอใหญ่โตแสนแพง ตัดต่อแล้วจะส่ง render ที่ไหนก็ได้ เดี๋ยวนี้มีให้บริการเต็มไปหมด ไม่ต้องอดนอนสามวันสามคืนเหมือนที่ผ่านมา ที่สำคัญการผลิตมันต้นทุนต่ำ ผลงานออกมาพอยอมรับได้ ทำให้มีตลาดต้องการโดยเฉพาะพวกองค์กรต่างๆ

หลักการคือ ต้องจบในตัวเองให้ได้ ต้นทุนต้องไม่สูง และงานออกมาเป็นศิลปะ ไม่เชิงออกเป็นการค้าจ๋าๆ คนทำต้องเก่งทั้งเรื่องคิดเรื่องเขียน ต้องรู้จักเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานผมตบจบด้วยงานประกวดหนังสั้นล่าสุดของกระทรวงใหม่อย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ก็แล้วกัน เขารับสมัครประกวดหนังสั้น รายละเอียดที่เฟสบุ๊คส์ ONDE Film Youth Camp งานนี้เงินรางวัลหลักแสน พร้อมพาไปดูงานที่ญี่ปุ่น อยากเป็น Shot Film Creator มือเซียนงานนี้ห้ามพลาด

เกี่ยวกับผู้เขียน

สมชาย งามวรรณกุล

ฉายาในวงการไอทีคือ ป๋าโย อดีตศิษย์เก่า Sanook! ยุคเอ็มเว็บยุคแรก คร่ำหวอดกับวงการสื่อข่าวไอทีกว่า 20 ปี ก่อนพลิกผันไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทั้งองค์กรรัฐ และเอกชนมากมาย วันนี้ของเขา คือผู้ปลุกปั้น Start-Up ระดับตำนานหลายราย

 

 
 
 
 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล : istockphoto.com

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 5 แนวโน้มอาชีพนิวมีเดีย ที่เด็กสื่อสาร+ไอทีต้องรู้