ปิดเมนู
หน้าแรก

3 พฤติกรรมเสี่ยงลด “เทสทอสเทอโรน” ที่ผู้ชายอยากฟิตควรเลี่ยง!

เปิดอ่าน 285 views

3 พฤติกรรมเสี่ยงลด “เทสทอสเทอโรน” ที่ผู้ชายอยากฟิตควรเลี่ยง!

เพราะฮอร์โมนที่ร่างกายหนุ่มๆ ไม่อาจขาดได้ก็คือ “เทสทอสเทอโรน” ซึ่งเป็นฮอร์โมนจำเป็นต่อทั้งกำลังกาย กล้ามเนื้อ อารมณ์ และการเจริญพันธุ์ของผู้ชาย โดยในทุกเวลาที่ผ่านไปเทสทอสเทอโรนจะค่อยๆ ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น นี่ยังไม่รวมสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มันลดอย่างไม่ตั้งใจ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด (ไวรัสซิกาทำให้ระดับเทสทอสเทอโรนและศักยภาพในการเจริญพันธุ์ลดลงในหนูทดลอง) เป็นต้น

ทั้งนี้แม้ว่าเทสทอสเทอโรนจะมีผลตั้งแต่เราอยู่ในมดลูกแม่และมีอิทธิพลต่อความสามารถต่างๆ ของความเป็นชาย อาทิ ความแข็งแกร่งของร่างกาย ความสามารถด้านกีฬา การจดจำทิศทาง และการใช้สมองด้านมิติทางกายภาพต่างๆ อย่างไรก็ตามทุกๆ ตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ระดับเทสทอสเทอโรนลดลงเสมอ ดังนั้นนอกจากการบำรุงด้วยอาหารแล้ว การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการลดระดับเทสทอสเทอโรนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยชะลอความเสื่อมที่เกิดขึ้นอย่างไม่จำเป็นได้เช่นกัน ซึ่งก็มี 3 เรื่องหลักๆ ให้ต้องระวังกัน ดังนี้…

1. เครียดเรื้อรัง

ทั้งความเครียดกายและกลุ้มอกกลุ้มใจใดๆ เพราะจะทำให้ร่างกายเป็นโรงงานผลิต “ฮอร์โมนเครียด” ออกมาแบบไม่ยั้ง ดังที่มีการศึกษาตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Hormones and Behavior ปี 2010 เผยว่าเมื่อฮอร์โมนเครียดคอร์ติซอลเกิดขึ้นมาจะพาให้เทสทอสเทอโรนเปลี่ยนแปลงไปด้วยซึ่งไม่ใช่ในทางที่ดีนัก

2. หวานไม่ยั้ง

เพราะระดับน้ำตาลเชื่อมโยงกับการ “ตก” ของเทสทอสเทอโรนในหลายทาง ซึ่งกลไกหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มาจากระดับ “อินซูลิน” ที่สูงขึ้นในคนติดหวาน และถ้าทิ้งไว้นานๆ จะทำให้เกิดภาวะ “ดื้ออินซูลิน” ในระดับเซลล์ทั่วไปแล้วกลายเป็นโรคทางเมตาบอลิกในที่สุด ซึ่งทาง American Diabetes Association (ADA) แนะนำว่าผู้ที่เป็นเบาหวานควรเช็คระดับเทสทอสเทอโรนไว้ให้ดีด้วยเพราะมีโอกาสต่ำจนทำให้เกิดอาการผิดปกติได้

3. นอนดึก

การอดนอน นอนไม่เป็นเวลา หรือการนอนที่ไม่ได้คุณภาพ ล้วนมีผลลบต่อเทสทอสเทอโรน เรื่องนี้มีบทความจากวารสาร Current Opinion of Endocrinology, Diabetes and Obesity ระบุไว้ชัดเจนว่า “จำนวนชั่วโมงนอน” กับ “เวลาเข้านอน” เป็นสองปัจจัยที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งในการเพิ่มระดับเทสทอสเทอโรนตามธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงเวลานอนที่เป็นนาทีทองคือสี่ทุ่มถึงตีสอง เพราะร่างกายคนเรามีการหลั่งเคมีธรรมชาติต่างๆ ที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนออกมา เอาเป็นว่าถ้าเป็นไปได้หนุ่มๆ ควรเข้านอนสี่ทุ่มและตื่นราวหกโมงเช้าให้เป็นกิจวัตร

และนี่คือ 3 ปัจจัยที่อาจทำให้ระดับเทสทอสเทอโรนลดลงอย่างไม่จำเป็น ซึ่งนอกจากควรหลีกเลี่ยงทั้ง 3 พฤติกรรมดังกล่าวแล้ว และดูแลเรื่องอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายอย่างเสมอแล้ว คุณก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องของการนอนอย่างมีคุณภาพให้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากมีอาการกรนหรือสงสัยว่ามีอาการหยุดหายใจขณะหลับก็ขอให้ไปตรวจเพื่อจะได้แก้ไขไม่ให้มีผลกระทบต่อการนอน ส่วนคนที่มีอาการคล้ายเทสทอสเทอโรนต่ำ ได้แก่ น้ำหนักขึ้นง่าย ร่างกายดูย้วยๆ ด้วยไขมัน ความรู้สึกทางเพศลด เส้นผมและหนวดบางลง เหนื่อยง่าย กล้ามเนื้อหายหด ไปจนถึงซึมเศร้า อาจปรึกษาขอตรวจระดับฮอร์โมนตัวนี้ได้ครับ

ที่มา นิตยสาร Men’s Health ฉบับเดือนพฤษภาคม 2017
เรียบเรียงใหม่ จากบทความโดย
นพ.กฤษดา ศิรามพุช

credit: Men’sHealth Thailand

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : 3 พฤติกรรมเสี่ยงลด “เทสทอสเทอโรน” ที่ผู้ชายอยากฟิตควรเลี่ยง!