ปิดเมนู
หน้าแรก

เหมือนจะดี แต่ไม่ดีจริง

เปิดอ่าน 2,005 views

กินคลีน1

เหมือนจะดี แต่ไม่ดีจริง

อาหารหลายๆ อย่างที่เราทานกันเป็นประจำและคิดว่าดีอาจไม่ดีจริงอย่างที่เราคิดเสมอไป ยิ่งปัจจุบันมีกระแส “กินคลีน” เข้ามาด้วยยิ่งมีการแชร์ข้อมูลกันออกไปมากมายโดยหลายๆ ข้อมูลก็ผิดพลาดแต่พอแชร์กันเยอะๆแล้วดูเหมือนจริง หนูดีเลยมาขอแชร์บ้างถึงอาหารที่ “ดูเหมือนจะดี แต่ไม่ดีจริง” เพื่อเป็นไอเดียในการจับจ่ายซื้อหาอาหารมารับประทานกันนะคะ ยิ่งอาหารเดี๋ยวนี้ราคาแพง อาหารสุขภาพยิ่งแพงเข้าไปใหญ่ ขอให้เราเสียเงินแล้วได้สิ่งดีๆ ดังที่หวังจะดีกว่าค่ะ 

อันดับแรก: ปลา ปลาในโลกนี้แบ่งออกเป็น ปลาฟาร์มและปลาเลี้ยง ต่างมีปัญหาแตกต่างกันไปคนละแบบ ปลาฟาร์มถูกเลี้ยงเหมือนไก่คอกและวัวเนื้อทั่วไปคือ พื้นที่อยู่อาศัยคับแคบเบียดเสียด ปลาเครียดในที่แคบ (พฤติกรรมสัตว์ทั่วไป แม้กระทั่งมนุษย์ รักกันแค่ไหนเอามาใส่ห้องแคบๆ ห้องเดียวกันสักเดือนคงทะเลาะกันแน่ๆ)

ปลามักเริ่มกัดและทำร้ายกัน เกิดแผล หรือตัวนึงเป็นโรคตัวที่เหลือติดโรค จึงมักต้องอัดยาปฏิชีวนะ อีกทั้งอาหารปลาฟาร์มมักเป็นอาหารคุณภาพทางโภชนาการต่ำแต่รสชาติอร่อย ทั้งหมดนี้ที่ปลาต้องประสบพบเจอและตกค้างในร่างกายปลา พอมาขึ้นโต๊ะร่างกายพวกเราก็รับไปเต็มๆ ค่ะ

ส่วนปลาธรรมชาติที่ถูกยกย่องนักหนา อย่าลืมว่า “ธรรมชาติ” ทุกวันนี้บริสุทธิสักแค่ไหน พวกเรานี้ละที่นึกไม่ออกว่าจะทิ้งขยะโลหะหนักที่ไหนดีก็ทิ้งลงทะเลและปล่อยน้ำเสียทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนลงแม่น้ำลำคลอง สิ่งที่ลงไปไม่ใช่เพียงของเน่าเหม็น แต่มันคือ ปรอท (Mercury) ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นโลหะหนักอันตรายสำคัญรองจากกัมมันตรังสีเท่านั้น

กินคลีน2

อ่านแล้วห้ามจิตตกนะคะ เพราะหนูดีเองอ่านเยอะศึกษาเยอะ พอรู้ก็รีบอยากแชร์​กลัวแฟนๆ คอลัมน์จะเผลอไปทานสิ่งต่างๆ ที่เป็นอันตราย แต่ที่ขำคือ แฟนๆ รายการวิทยุ MET107 มีหลายคนที่เจอหนูดีแล้วบอกว่า “แหม ฟังคุณหนูดีและดีเจปูเป้แล้วมึน ตอนนี้จะทานอะไรคิดไปหมด หลอนไปเลย” ดีค่ะ กลัวไว้ดีกว่าทะเล่อทะล่าไปทานอาหารที่เสี่ยงแล้วกว่าจะรู้ก็เป็นโรคไปแล้ว

อาจารย์ชาวจีนท่านหนึ่งของหนูดีบอกว่าท่านมีคติประจำตัว “จู้จี้จุกจิกอายุยืน” หมายความว่า ยิ่งจู้จี้เรื่องอาหารเยอะหน่อยจะเป็นโรคน้อย (แต่อย่าเผลอไปจู้จี้กับคนใกล้ตัวนะคะ คนละเรื่องกัน) ที่หนูดีเริ่มหันมามองปลาแบบเพ่งเล็งก็ตอนที่ Dr. Neal Barnard แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอัลไซเมอร์สของอเมริกาไม่ทานปลาและพูดถึงประเด็นว่า โปรตีนจากปลาอาจไม่คุ้มกับโลหะหนักที่ติดมา เพราะอาจกระตุ้นอัลไซเมอร์สได้ เท่านั้นละค่ะ

หนูดีหาข้อมูลต่อทันที พบว่าเสี่ยงจริง หลายรัฐในอเมริกาก็กำหนดให้โรงเรียนจำกัดปริมาณการบริโภคปลาทูน่าของนักเรียนในมื้อกลางวันต่อสัปดาห์อีกด้วย หนูดีเองจึงจำกัดการบริโภคปลาของตัวเองลงและเลี่ยงมาทานโปรตีนทดแทนจากพืชออร์กานิกเพิ่มขึ้น เช่น เลนทิล คินัว รวมถึงทำนมอัลมอนด์ นมพิสตาชิโอทานเอง

อันดับสอง: Agave Syrup Agave Syrup เป็นน้ำเชื่อมจากต้นอากาเว่ ที่ส่งผ่านข้อมูลกันเยอะมากว่าปลอดภัยและดี ทดแทนน้ำตาลแล้วเจ๋งมาก แต่จริงๆแล้วไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป Dr. Joseph Mercola รวมถึงโภชนากรอีกหลายคนออกมาเตือนว่า ไม่ได้ดีไปกว่า High Fructose Corn Syrup เลย หากเราเลี่ยงน้ำหวานจากข้าวโพดก็เลี่ยงตัวนี้ด้วยค่ะ เห็นชอบเอามาใส่ในเมนูเบเกอรี่สุขภาพกันเยอะ ระวังไว้ก็ดี

กินคลีน3

อันดับสาม: น้ำผลไม้กระป๋องหรือขวดกระดาษ เลี่ยงได้เลี่ยงเลย ไม่มีอะไรนอกจากน้ำตาลสูง ส่วนไฟเบอร์ก็ถูกสกัดออกไปแล้ว แร่ธาตุต่างๆ ถูกความร้อนทำลายแทบหมด ไม่รู้จะทานทำไม หากอยากได้ผลไม้ ทานสดเป็นลูกเลยค่ะ ถูกและดีกว่ามาก

อันดับสี่ : น้ำมันมะกอกมาปรุงอาหารสุก การนำน้ำมันมะกอกมาปรุงอาหารสุก วิธีนี้ก็ให้เลิกโดยเด็ดขาด ท่องไว้ว่าน้ำมันมะกอกทานดิบเท่านั้น และหากทานดิบและเป็น Virgin Olive Oil จะถือกันว่าเป็นหนึ่งในน้ำมันที่ดีที่สุดในโลก แต่หากโดนความร้อนปุ๊บ เทพจะกลายเป็นมารปั๊บ เพราะจุดเกิดควันต่ำ ส่งผลให้เคมีในตัวกลายเป็นอนุมูลอิสระไว้ทำร้ายร่างกายมนุษย์​…ตัวเลือกทดแทนหรือคะ สมัยนี้มี “น้ำมันมะพร้าวเพื่อการทำอาหาร”​แล้ว หนูดีเลือกตัวนี้ เมื่อก่อนใช้แบบหีบเย็น กลิ่นแรงมาก ทำอะไรก็ไม่อร่อย ปัจจุบันลองหาดูนะคะ เวอร์ชั่นเพื่อการทำอาหารร้อน ปรุงแล้วไม่เสียกลิ่นเลย น้ำมันมะพร้าวจุดเกิดควันสูง ปลอดภัยสุดแถมมีงานวิจัยมากมายมหาศาลมารองรับจนหมดคำถาม เรียกได้ว่า ทานได้ทั้งดิบและสุกสบายใจ แต่หากทำน้ำมันสลัด หนูดียังคงเรียกหาแต่น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์แบบไม่เคยนอกใจค่ะ อร่อยกว่า

อันดับห้า: ผลิตภัณฑ์นมวัว ผลิตภัณฑ์นมวัว ไม่ว่าจะเป็นนม ชีส หรือ โยเกิร์ต เพราะคนไทยแพ้นมวัวติดอันดับหนึ่งของโลก (ตอนรู้สถิตินี้ งงมาก อ้าว ก็คนไทยทานนมวัวกันมากมาย) อย่าลืมว่าบรรพบุรุษของเราไม่เคยทานนมวัวเลย ท่านเหม็นนมเหม็นเนยด้วยซ้ำ แต่ขุดพบโครงกระดูกคนโบราณทีไรตัวสูงใหญ่เกือบสองเมตร ท่านทำได้อย่างไร คำตอบไม่ยากเย็น แหล่งแคลเซียมมีอีกมากมายนอกจากนมวัว ทั้งปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียวเข้ม กุ้งเคย ปูกะตอย ฯลฯ

อย่าหลงฟังโฆษณามากไปแต่ให้หาข้อมูลงานวิจัยภัยร้ายนมวัวมาอ่านมากๆ ค่ะ แล้วเราจะไม่เอาร่างกายเราไปเป็นเหยื่อให้องค์กรขายอาหารขนาดยักษ์​ร่างกายเราใครมาจะรักเท่าเราเป็นไม่มีหรอกค่ะ โดยเฉพาะบริษัทที่เน้นการคืนกำไรให้ผู้ถือหุ้นมากกว่าคืนสุขภาพให้ผู้บริโภค

อาหารที่ “ดูเหมือนสุขภาพ” มีมากมายในตลาดและปลอมตัวมาหลอกเรากันเก่งมากๆ ด้วย อ่านให้เยอะ ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทาน แล้วร่างกายของเราจะอยู่รับใช้เราอย่างดีไปอีกนานแสนนานค่ะ

กินคลีน

*บทความโดย วนิษา เรซ ตีพิมพ์ในคอลัมน์ฉลาดสุขกับหนูดี “กรุงเทพธุรกิจกายใจ” ฉบับวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม 2558

sun shade car target

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เหมือนจะดี แต่ไม่ดีจริง