ปิดเมนู
หน้าแรก

เลี่ยงน้ำตาลด้วย “หญ้าหวาน” เทรนด์สุขภาพมาแรง ที่ต้องบอกต่อ!

เปิดอ่าน 368 views

เลี่ยงน้ำตาลด้วย “หญ้าหวาน” เทรนด์สุขภาพมาแรง ที่ต้องบอกต่อ!

หลังจากเป็นที่รู้จักในบ้านเรามาได้พักใหญ่ และฝ่าฟันพิสูจน์ตัวเองจนพ้นคำครหาผิดๆ ในที่สุด “หญ้าหวาน” ก็เริ่มเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ จนเกิดเป็นกระแสสำหรับผู้ต้องการหลุดพ้นจากยุคน้ำตาลเทียมเสียที เพราะไม่ว่าจะขัณฑสกร (แซคคาริน) แอสปาร์เทม ซูคราโลส อะซีซัลเฟมเค ซอร์บิทอล ไซลิทอล อิริทริออล เรื่อยมาจนมาถึงสารแทนความหวานทั้งหลายที่ลงท้ายด้วย “…ออล” ก็ล้วนเป็นสารสังเคราะห์ที่คนรักสุขภาพเริ่มหลีกเลี่ยง (โดยเฉพาะ 3 ชนิดแรก)

อย่างไรก็ตาม แม้ “หญ้าหวาน” จะเป็นที่รู้จักในไทยมาได้หลายปีแล้ว แต่สำหรับบางคนก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักสารแทนความหวานจากธรรมชาติชนิดนี้กัน….

หญ้าหวาน คืออะไร?

หญ้าหวาน (Stevia rebaudiana Bertoni) เป็นพืชในตระกูลทานตะวันหรือดาวเรือง แต่ลักษณะใบคล้ายสะระแหน่และต้นละม้ายแมงลักมากกว่า โดยประเทศที่ใช้สมุนไพรตัวนี้นำร่องมาหลายร้อยปีแล้ว คือ ปารากวัยและบราซิล ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของต้นไม้ชนิดนี้ ต่อมาก็มีหลายประเทศเริ่มนำไปปลูกใช้เอง สกัดเอง ขายเองบ้าง โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่นิยมใช้หญ้าหวานเป็นสารทดแทนความหวานมา 40 ปีได้ อเมริกาเริ่มใช้จริงจังมา 10 กว่าปีได้แล้ว ส่วนทางยุโรปนั้น ด้วยความเคร่งครัดเรื่องการควบคุมอาหารและยา รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเพิ่งเริ่มใช้กันอย่างเป็นทางการได้สัก 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่รู้จักกันมานานมากแล้ว

หญ้าหวานใน “ไทย”

โดยสำหรับในบ้านเรานั้น รู้จักพืชนี้กันมาสักพักใหญ่แล้ว แต่ด้วยเพราะไม่ค่อยตื่นตัว บวกกับหาซื้อตามตลาดได้ยาก จึงทำให้หญ้าหวานยังไม่เป็นที่นิยมกัน จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มหลายชนิด เทรนด์สุขภาพใหม่จึงบังเกิดขึ้นในบ้านเรานั่นเอง

ทั้งนี้ แม้หญ้าหวานจะมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเป็นใบๆ ให้เราต้มกินเอง หรือแบบผงพร้อมกินหรือนำไปผสมกับสารให้ความหวานแบบอื่นๆ แต่การจะกินหญ้าหวานก็ควรพิจารณาสารให้ความหวานหรือสารอื่นที่นำมาเจือจางหญ้าหวานให้หวานพอดี เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำตาลที่เข้าสู่กระแสเลือดพุ่งสูงเกินไปด้วย

ข้อดี

1. ให้ความหวานได้อย่างเข้มข้น
2. ทนกรดทนด่าง ทนความร้อนสูงถึง 200 องศาเซลเซียส จึงนำไปใช้ปรุงอาหารได้
3. ไม่ก่อมะเร็ง ปลอดภัยในการรับประทานต่อเนื่องตามปริมาณที่แนะนำ (ไม่เกิน 4 มก.ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน)
4. รสชาติคล้ายน้ำตาลธรรมชาติ ต่างก็ตรงไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาล แต่จะค่อยๆ หวานติดลิ้น ซึ่งใช้เวลานานกว่า
5. เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวาน

ข้อเสีย

1. ถ้าใส่ปริมาณเยอะเกินไป จะทำให้เข้มข้น จนทำให้รู้สึกขมได้
2. นำไปทำขนมจะไม่ค่อยฟู ทำให้ต้องใส่ผงฟูมากขึ้น และรสสัมผัสแตกต่างออกไป เนื่องจากไม่มีน้ำตาลเป็นสารตั้งต้น
3. ทำให้ความหอมของขนมที่ผสมหญ้าหวานไม่ฟูฟ่องมากนัก
4. อาหารหรือขนมที่หมักแป้งโดว์ด้วยยีสต์หรือแก๊ส ต้องใช้เวลาหมักนานกว่า

อย่างไรก็ตาม… แม้น้ำตาลเทียมหลายชนิด โดยเฉพาะกลุ่มโพลีออลจะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวานเช่นกัน เพราะสามารถลดปริมาณแคลอรีที่ร่างกายรับเข้าไปจากน้ำตาล รวมถึงผลข้างเคียงจากภาวะน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงหลังมื้ออาหารที่ส่งผลเสียต่อการเผาผลาญ ระบบเส้นเลือด หัวใจและสมอง

แต่ผลงานวิจัยเมื่อเดือนกันยายน เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา ก็ตั้งคำถามถึงการบริโภคขัณฑสกร แอสปาร์เทมและซูคราโลส กับความเหมาะสมในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากน้ำตาลเทียม 3 ชนิดนี้ อาจเป็นบ่อเกิดของเบาหวานก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องรอดูในอนาคตว่าความชัดเจนเรื่องความปลอดภัยของน้ำตาลเทียมทั้ง 3 ตัวนี้จะเป็นอย่างไร ระหว่างนี้คงต้องพึ่งพาการปรับนิสัยติดหวาน ทานสารสกัดหญ้าหวานหรือสารให้ความหวานกลุ่มโพลีออลไปพลางก่อน แต่วงเล็บไว้นิดหนึ่งว่าอย่าได้ใจรับประทานมากเกินไปล่ะครับ ท้องเดินขึ้นมาจะหาว่าโพลีออลไม่เตือนนะครับ!

credit: Men’sHealth Thailand

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เลี่ยงน้ำตาลด้วย “หญ้าหวาน” เทรนด์สุขภาพมาแรง ที่ต้องบอกต่อ!