ปิดเมนู
หน้าแรก

เคล็ดลับปั้นรายการ TV ไทยให้โลกรู้ จาก ‘ชลากรณ์’ เวิร์คพอยท์

เปิดอ่าน 369 views

เคล็ดลับปั้นรายการ TV ไทยให้โลกรู้ จาก ‘ชลากรณ์’ เวิร์คพอยท์

เคล็ดลับปั้นรายการ TV ไทยให้โลกรู้ จาก ‘ชลากรณ์’ เวิร์คพอยท์

“ เปลี่ยนตามคนดู ไม่มีทางรู้ว่าอะไรจะมา และ กล้าลอง”โดย ชลากรณ์ ปัญญาโฉม Workpoint

รายการบันเทิงจากไทย The Mask Singer ถูกยกขึ้นไปเป็นกรณีศึกษาบนเวที F8 ที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากประสบความสำเร็จจากยอดผู้ชมผ่าน Online Streaming Platform สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก Sanook ได้ติดต่อสอบถามถึงความสำเร็จของรายการโทรทัศน์ไทยบน Platform ระดับโลกครั้งนี้ จึงได้รับรู้ถึงหลักคิดและหลักปฏิบัติในการทำงานที่นำพาทีมงาน Workpoint TV มาถึงจุดนี้ได้ จากการมี

  • Content ดี
  • ชี้ไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
  • เป็นสหายกับทุก Platform
  • พร้อมปรับเปลี่ยน
  • เรียนรู้จากงานจริง
  • อิงข้อมูลเพื่อต่อยอดทางธุรกิจ
  • คิดให้ยาวก้าวให้เร็ว 

คุณชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จํากัด (Workpoint TV) ให้สัมภาษณ์แบบ exclusive กับ Sanook.com ถึงความสำเร็จที่รายการโทรทัศน์ของคนไทย ได้ถูกหยิบยกขึ้นไปเป็นกรณีศึกษา ของสื่อโทรทัศน์ ที่ประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) เพื่อนำเสนอรายการสู่ผู้ชม ไม่หวั่นกับคำพูดที่ว่าสื่อโทรทัศน์กำลังจะไปสื่อออนไลน์เข้ามาแทน เวิร์คพอยท์ เลือกออกอากาศรายการแบบ simulcast (แบบคู่ขนาน) หมายถึง ปล่อยให้มีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์ , เว็บไซต์ , Facebook Live, และ Youtube Live ไปพร้อมๆ กัน รายการ หน้ากากนักร้อง (The Mask Singer )  ได้รับความนิยมติดอันดับ 2 ของ โลกสำหรับรายการยอดนิยมที่มีผู้ชมพร้อมๆกัน ผ่าน Facebook Live กว่า 800,000 วิว ความสำเร็จในวันนี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า คนไทยหาก กล้าลอง กล้าลงมือ กับ เทคโนโลยีระดับโลก รู้จักเรียนรู้จากการลอง ผลตอบรับนั้นคุ้มค่าเกินคาด

 

The Mask Singer บนเวที F8ออกอากาศทางโทรทัศน์ไปด้วย ออนไลน์ไปด้วยกลัวคนดูโทรทัศน์น้อยลงหรือไม่

ผมเชื่อว่าในไทยยังมีคนดูที่เป็นกลุ่มซ้อนกันอยู่สำหรับคนดูทั้งโทรทัศน์และดูทางออนไลน์ในเวลาเดียวกัน แต่ก็มีบางคนดูโทรทัศน์อย่างเดียว เราเคยทดลองกับรายการอื่นๆ ด้วยการ ทำเกมให้คนเล่นไปด้วยระหว่างดูโทรทัศน์ไปด้วย ก็พบว่ามีคนเล่นเกมกับเราเยอะมาก จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าคนที่ดูโทรทัศน์นั้นเค้าทำอย่างอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน แต่สมัยก่อนนั้น มันยังไม่มี Platform live หรือ chat ให้คนทำในระหว่างดูโทรทัศน์ คนก็เลือกทำอย่างอื่น คนนั่งหน้าจอโทรทัศน์ไม่ได้ดู TV เพียงอย่างเดียว ซึ่งตรงนี้หากตอบคำถามว่ากลัวหรือไม่ คำตอบคือ เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไร แต่เราต้องลอง ส่งรายการของเราไปในทุกๆที่ที่คนเข้าถึง ที่คนดู สิ่งสำคัญที่จะทำให้รายการฮิต นั้นคือเนื้อหาต่างหาก สำหรับ The Mask Singer ทีมงาน Workpoint มีความคิดสร้างสรรค์มาก จากต้นฉบับ ที่ทำเพียงหน้ากากปิดหน้า ทีมเวิร์คพอยท์ เสนอทำแบบปิดทั้งตัว เพราะจะทำให้ทายยากมากขึ้น และเราก็ตั้งใจทำให้การแต่งกายต่างๆ ออกมาสมบูรณ์ ประกอบกับเนื้อหาในรายการ ที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ชม ผ่าน platform ได้ตอบสนองความต้องการแสดงความเห็น ต้องการบอกให้โลกรู้ว่าคิดอย่างไร ในระหว่างกำลังชมรายการ ตรงนี้ คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้รายการนี้ได้รับความนิยม

 

มีวิธีเลือก Platform อย่างไร

อย่างที่บอกว่าเราไม่รู้ว่า Platform อะไรจะมา แต่เราเริ่มจากกล้าลองไปก่อน ช่วงแรกเราใช้ platform ต่างๆ เพื่อการสื่อสารระหว่างรายการกับผู้ชม ในการประชาสัมพันธ์ เพราะเราก็ไม่รู้ว่า แต่ละ Platform ต่างๆ จะพัฒนาอะไรออกมาบ้าง

 

  • เริ่มจาก website ที่เราทำเพื่อให้คนดูรายการทางออนไลน์ ได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลา
  • ทำ Application ให้คนดูทางออนไลน์ และ มีเกมให้เล่นระหว่างดูโทรทัศน์
  • ใช้ Youtube สำหรับ ขึ้นรายการย้อนหลัง หาคลิปรายการและคลิปแปลกๆ ไปลงเกิดเป็นธุรกิจ สร้างรายได้ 
  • ใช้ Line เพื่อ สื่อสารกับผู้ชม ประชาสัมพันธ์รายการที่ กำลังจะออกอากาศแล้ว และ เพื่อทำรายการโทรทัศน์แบบ interactive
  • ใช้ Facebook เริ่มจากใช้เพื่อการสื่อสารกับผู้ชม ก่อน ส่วน การทำ Live เป็น feature ล่าสุด

จากนั้นก็พัฒนาการใช้งานไปเรื่อยๆตามคุณสมบัติใหม่ๆที่เจ้าของ Platform เค้าพัฒนาขึ้นมาให้ใช้ และ เมื่อรายการต่างๆได้รับความนิยม เจ้าของ Platform นั้นๆก็ติดต่อเข้ามาแนะนำการใช้งานให้เหมาะสมมากขึ้น มีการทำงานร่วมกันใกล้ชิดมากขึ้น

 

ทำอย่างไรรายการจึงฮิตทั้งทางโทรทัศน์และออนไลน์

กลับไปข้างต้นคือ เราไม่รู้อะไรจะฮิต อะไรจะมา ในเรื่องของ Platform แต่เราต้องมั่นใจว่า Content ของเราต้องดีก่อน ซึ่ง ทีมงานเวิร์คพอยท์ (Workpoint) เชี่ยวชาญเรื่องนี้ เมื่อเรามั่นใจในเนื้อหาของเราว่าดังแน่ คนชอบแน่ รายการที่ได้รับความนิยมทางโทรทัศน์ ก็จะได้รับความนิยมทางออนไลน์ไปด้วย เราเชื่ออย่างนั้น ทุกรายการที่ดังทางโทรทัศน์ นำไปให้คนดูช่องทางไหนก็ดัง แต่เราก็เลือกนะ เลือกรายการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนดูที่เข้าถึงช่องทางทางออนไลน์ด้วย ไม่ได้ใช้แนวทางเดียวกันกับทุกรายการ ซึ่งการตัดสินใจเลือกใช้ Platform ใดกับรายการไหน ช่วงไหนนั้นไม่ง่ายต้องใช้เวลาทดลองและเก็บข้อมูลไป  

กรณีศึกษารายการหน้ากากนักร้อง (The Mask Singer) ที่ซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบมาจากประเทศเกาหลี แต่ได้สร้างสรรค์ความแตกต่างจากต้นฉบับ ปรับปรุงเนื้อหา และ เลือกใช้ ช่องทางการรับชมทุกช่องทางที่มีคนดูอยู่ที่นั่น ต่างจากรายการต้นฉบับที่เกาหลีที่ความนิยมไม่เท่ากับรายการในประเทศไทย และที่นั่นก็ไม่ได้ใช้ Platform ต่างๆมากมายเหมือนกับไทย 

คิดอย่างไรที่มีคนพูดว่าคนดูโทรทัศน์น้อยลง

ไม่จริงนะ ถ้าดูข้อมูลกันดีๆ คือคนไปใช้เวลากับโลกของการสื่อสารโดยเฉพาะบนมือถือมากขึ้นจริง แต่เวลาที่อยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ไม่ได้ลดลงมาก และเราพบอีกว่า ระยะเวลาที่คนใช้กับหน้าจอโทรทัศน์ยืดออกมาอีก หมายถึง นานกว่าเดิม

อนาคตของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ปีนี้จะเป็นอย่างไร

ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรแต่รู้ว่าอุตสาหกรรมสื่อของไทยจะตื่นเต้นกับ สื่อออนไลน์มาก การไปรับฟังการสัมมนาของนักพัฒนาระดับโลก หรือ F8 ที่ Facebook จัดขึ้นนั้น ก็ได้เห็นว่า อุตสาหกรรมสื่อก็จะคล้ายๆกับ อุตสาหกรรมออนไลน์ ที่ มาถึงยุคของ Omni-Channel หรือ การข้ามช่องทาง ข้าม Platform กันไปมา โดยนำข้อมูลหลังบ้านมาวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันพูดถึงกันเยอะมากในอุตสาหกรรม e-commerce เมื่อผู้บริโภคต้องการซื้อของ กว่าจะตัดสินใจซื้อจะผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งเว็บไซต์ , social media, search engine แคมเปญออนไลน์ ส่วนลดอะไรต่างๆ ก่อนซื้อ  เปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมสื่อก็เช่นกัน คนดูรายการผ่านสื่อโทรทัศน์ คือคนดูประเภท ที่รอได้ หรือรายการอะไรที่รอได้ แต่คนที่ดูรายการผ่านมือถือ ผ่าน ออนไลน์ คือรายการประเภทที่ ต้องเอาเลย เข้าเรื่องเลย พักเบรกก็ย่อจอลง เราในฐานะผู้ผลิตรายการ เราต้องใช้ให้ครบทุก Platform แล้ว นำพฤติกรรมของคนดูมาพิจารณาว่า Touch Point อยู่ตรงไหน และ หากหาจุด ที่ลงตัวได้แล้ว ก็อาจต้องมีวิธีอื่นล้อมคอกอีกที เราผลิตรายการ ตอบสนองทั้งคนดู และ ตอบสนองทั้งลูกค้า  ดังนั้นการทำงานของสื่อที่นำเสนอหลายๆ Platform ต้องนำผลการทำงานมาศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย เพื่อนำการศึกษานั้นมาพัฒนารายการให้ตรงกับความต้องการของคนดู เมื่อตรงกับความต้องการคนดูก็จะนิยมมากขึ้น และ รายได้ก็จะตามมาเพราะเราสามารถกำหนดเนื้อหารายการ กลุ่มคนดู  และ สินค้า ให้ตรงกันได้

ในงาน F8 พบเห็นเทคโนโลยีอะไรที่จะนำมาใช้กับกิจการโทรทัศน์ไทยหรือไม่

สิ่งที่คุณมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้ง Facebook พูดบนเวที F8 มีเรื่องของ โลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Connect, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ซึ่ง ส่วนตัวผมไม่ค่อยตื่นเต้นกับเรื่องนี้เท่าไหร่ อาจจะเหมาะกับการนำมาประยุกต์กับการทำรายการ ผจญภัย ซาฟารี, การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ รายการอะไรที่คนต้องฮาร์ดคอร์หน่อย เพื่อจะได้รับความรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ในสถานที่จริงๆ ระหว่างสวมแว่นตา VR รับชมรายการ แต่สิ่งที่ผมสนใจ คือ เรื่องของการสั่งงานด้วยสมอง หรือ “brain click” การตอบโต้โดยไม่ต้องพิมพ์แต่เป็นการใช้ความคิด แล้วตอบโต้ไป ซึ่ง สิ่งนี้ยังสามารถช่วยไปถึงคนพิการ ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ AR มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น

 

ฝากอะไรให้กับเพื่อร่วมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิทัล

การทำ content ให้ถูกใจคนดูไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนการทดลอง Platform ใหม่ๆ ถ้าไม่มีอะไรเสียหายก็สนับสนุนให้ทดลอง

ช่วงเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง Sanook.com ได้รับฟังความเห็น วิธีคิด พร้อมกับอัพเดทโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารไปพร้อมๆกัน ทำให้เราคิดได้เรื่องหนึ่งว่า ความสำเร็จของผู้ชายคนนี้ คนที่ชื่อ ชลากรณ์ ปัญญาโฉม คือ การเปิดรับ เปิดโอกาส ลงมือทำ พร้อมเรียนรู้แบบไม่มีวันจบ ไม่ซับซ้อน และ รอบคอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ฉลาดที่จะนำมาประยุกต์ใช้จากข้อมูลที่มี หากข้อมูลที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจก็ต้องเก็บข้อมูลนั้นต่อไป ให้พอเพื่อตัดสินใจขั้นต่อไปได้ เห็นอย่างนี้แล้ว ทำให้นึกขึ้นได้ว่า บางเรื่องที่คนมองว่ายาก แต่หาก ข้ามเส้นความยากไปก่อน แล้ว ลงมือกล้าคิดกล้าลอง ความยากนั้นจะหายไปเพราจะมีความรู้ใหม่ๆ เข้ามาแทน ช่วยให้ความยากนั้นเป็นเพียงความไม่กล้า และความไม่รู้ ที่คนอื่นยังมองว่ายาก ต้องหาทางข้ามมันไปให้ได้

 
 
 

ขอขอบคุณ

ภาพ : Chalakorn Panyashom

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เคล็ดลับปั้นรายการ TV ไทยให้โลกรู้ จาก ‘ชลากรณ์’ เวิร์คพอยท์