ปิดเมนู
หน้าแรก

เกร็ดความรู้ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

เปิดอ่าน 185 views

เกร็ดความรู้ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์

Thai Post

สนับสนุนเนื้อหา

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในวันที่ ๔-๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ประเทศไทยจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

>>โปรดเกล้าฯ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4-5-6 พฤษภาคม 2562

หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน ๑๑ ครั้ง ดังนี้

๑. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน ๒ ครั้ง

๒. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน ๑ ครั้ง 

๓. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๔. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง     

๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง     

๖. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง 

๗. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๘. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน ๑ ครั้ง 

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ ๑๒

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ แต่เป็นเพียงสังเขปเท่านั้น มิได้จัดเต็มตามโบราณราชประเพณี 

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยังคงติดขัดในเรื่องการสงคราม และเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงต้องแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา 

และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริงต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ และได้ทรงเชิญพระราชอาคันตุกะ ซึ่งได้แก่ผู้แทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในยุโรปเกือบทุกประเทศ ผู้แทนเหล่านี้ถ้าไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็จะได้แก่อัครราชทูตพิเศษ 

นอกจากนี้ ยังทรงเชิญผู้แทนของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และผู้แทนพระองค์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นด้วย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะจึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ช่วงระยะเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว ๒ เดือน คือในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ อีกครั้งหนึ่ง และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด ดังนี้

ขั้นเตรียมพระราชพิธี

ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศและมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่างๆ ในแขวงนั้นๆ 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ รวมทั้งหมด ๖ แห่ง ได้แก่

๑. สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี

๒. แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

๓. แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี

๔. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง

๕. แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม

๖. แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับในรัชกาลก่อนๆ แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้เพิ่มน้ำจากปัญจมหานทีของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เจือลงไปด้วย เพราะว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย ทรงได้น้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ จึงใช้น้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๑ แห่ง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ได้แก่

๑. แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาทอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา    

๒. ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ

๓. น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)

๔. แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

๕. บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช

๖. บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพเยาว์ และนครเชียงใหม่

๗. บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง

นอกจากนี้ ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ

๑. วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์

๒. วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์

๓. วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา

๔. วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน

๕. วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี

๖. วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี

๗. วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี

๘. วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต

๙. วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร

๑๐. วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง สถานที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้เป็นสถานที่เดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาเป็นที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำส่งมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงจะได้เชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์

นอกจากนี้ ยังมีการจารึกพระสุพรรณบัฏ โดยจารึกพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ลงบนแผ่นทองคำ เพื่อถวายในการพระราชพิธีก่อนถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ซึ่งต้องเชิญประดิษฐานบนแท่นมณฑลในพระราชพิธี การเตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละรัชกาลตามความเหมาะสม ได้แก่ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกปราสาท ในรัชกาลที่ ๑ หมู่พระมหามณเฑียร ในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ (ครั้งแรก) รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๙ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในรัชกาลที่ ๖ (พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

พระราชพิธีเบื้องต้น

เป็นพระราชพิธีก่อนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัยและเจริญพระพุทธมนต์ ในการพระราชพิธี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ประกอบด้วย พิธีสรงพระมุรธาภิเษก คือ การรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้พลีกรรมตักน้ำและเสกทำน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง เสด็จขึ้น ณ มณฑปพระกระยาสนาน เมื่อทรงพระมุรธาภิเษกแล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จฯ ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงน้ำอภิเษก น้ำเทพมนต์ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ได้แก่ พระสุพรรณบัฏ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ ทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง

หลังจากนั้น พระครูพราหมณ์ฝ่ายต่างๆ ถวายพระพรชัยมงคล พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะมีพระปฐมราชโองการเป็นภาษาไทย ในรัชกาลที่ ๕ ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ โปรดให้เพิ่มพระปฐมราชโองการภาษามคธอีกหนึ่งภาษา และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา ในรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗

ในรัชกาลที่ ๙ หลังจากคณะพราหมณ์ถวายพระพรชัยมงคล พระราชครูวามเทพมุนีถวายพระพรชัยมงคลด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทย พระราชครูฯ รับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรโดยทศพิธราชธรรม

พระราชพิธีเบื้องปลาย

ประกอบด้วย การเสด็จออกมหาสมาคม พิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงสักการะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นอันเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบตามโบราณราชประเพณี

อนึ่ง ในรัชกาลที่ ๙ มิได้เสด็จเลียบพระนครในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เสด็จเลียบพระนครในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๓ รอบ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : เกร็ดความรู้ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์