ปิดเมนู
หน้าแรก

สมุนไพร แก้อาเจียน

เปิดอ่าน 898 views

สมุนไพร แก้อาเจียน

” กะเพรา “
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Ocimum sanctum  L.
ชื่อพ้อง : Ocimum tenuiflorum  L.
ชื่อสามัญ :  Holy basil,  Sacred Basil
วงศ์ :   Lamiaceae (Labiatae)
ชื่ออื่น :  กะเพราขน กะเพราขาว กะเพรา (ภาคกลาง) กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) อีตู่ไทย (ภาคอีสาน)

กะเพรา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 30-60 ซม. โคนต้นค่อนข้างแข็ง กะเพราแดงลำต้นสีแดงอมเขียว ส่วนกะเพราขาวลำต้นสีเขียวอมขาว ยอดอ่อนมีขนสีขาว ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน รูปรี กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบสีเขียว มีขนสีขาว ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกสีขาวแกมม่วงแดงมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายเรียวแหลม ด้านนอกมีขน กลีบดอกแบ่งเป็น 2 ปาก ปากบนมี 4 แฉก ปากล่างมี 1 แฉก ปากล่างยาวกว่าปากบน มีขนประปราย เกสรเพศผู้มี 4 อัน ผล เป็นผลแห้ง เมื่อแตกออกจะมีเมล็ด สีดำ รูปไข่

ส่วนที่ใช้ : ใบ และยอดกะเพราแดง ทั้งสดและแห้ง ทั้งต้น

สรรพคุณ

  • แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ)
  • ใช้แก้อาการท้องอืดเฟ้อ แน่จุกเสียดและปวดท้อง
  • แก้ไอและขับเหงื่อ
  • ขับพยาธิ
  • ขับน้ำนมในสตรีหลังคลอด
  • ลดไข้
  • เป็นยาอายุวัฒนะ
  • เป็นยารักษาหูด กลากเกลื้อน ต้านเชื้อรา
  • เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่ หรือฆ่ายุง
  • เป็นสมุนไพร ไล่แมลงวันทอง

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • แก้คลื่นไส้ อาเจียน (เกิดจากธาตุไม่ปกติ)
    อาการท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง
    ใช้กะเพราทั้ง 5 ทั้งสด หรือ แห้ง ชงน้ำดื่ม รับประทาน
    เด็กอ่อน ใช้ใบสด 3-4 ใบ
    ผู้ใหญ่ ใบแห้ง 1 กำมือ, 4 กรัม ผงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะ หรือ 2 ช้อนแกง ใบสด 25 กรัม
    ภายนอก เด็กอ่อน ใบสด 10 ใบ

วิธีใช้

  •  ยาภายใน

    • เด็กอ่อน – ใช้ใบสด ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง หยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2-3 วัน จะช่วยขับลม และถ่ายขี้เทา
    • ผู้ใหญ่ – ใช้ใบกะเพราแห้ง ชงกับน้ำดื่ม เป็นยาขับลม ถ้าป่นเป็นผง ให้ชงกับน้ำรับประทาน
      คนโบราณใช้ใบกะเพราสดแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดรับประทาน ช่วยขับลม บำรุงธาตุ
  • ยาภายนอก
    • ใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะลดอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อได้
      กะเพรามี 2 ชนิด คือ กะเพราขาว และ กะเพราแดง  กะเพราแดงมีฤทธิ์แรงกว่ากะเพราขาว ในทางยานิยมใช้กะเพราแดง แต่ถ้าประกอบอาหารมักใช้กะเพราขาว
  • ยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอด

    • ใช้ใบกะเพราสด 1 กำมือ แกงเลียงรับประทานบ่อยๆ หลังคลอดใหม่ๆ
  • ยารักษากลากเกลื้อน

    • ใช้ใบสด 15-20 ใบ ตำหรือขยี้ให้น้ำออกมา ใช้ทาถูตรงบริเวณที่เป็นกลาก ทาวันละ 2-3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
  • เป็นยารักษาหูด

    • ใช้ใบกะเพราแดงสด ขยี้ทาตรงหัวหูด เข้า-เย็น จนกว่าหัวหูดจะหลุด

ข้อควรระวัง

  • น้ำยางที่ใช้สำหรับกัดหูดนี้เป็นพิษมาก ดังนั้นควรใช้ด้วยความระวัง
    • อย่าให้เข้าตา
    • ให้กัดเฉพาะตรงที่เป็นหูด อย่าให้ยางถูกเนื้อดี ถ้าถูกเนื้อดี เนื้อดีจะเน่าเปื่อย ซึ่งรักษาให้หายได้ยาก
  • เป็นยาสมุนไพร ใช้ไล่หรือฆ่ายุง
    • ใช้ทั้งใบสดและกิ่งสด 1 กิ่งใหญ่ ๆ เอาใบมารขยี้ แล้ววางไว้ใกล้ๆ ตัว จะช่วยไล่ยุงได้ และยังสามารถไล่แมลงได้ด้วย น้ำมันกะเพรา เอาใบสดมากลั่น จะได้น้ำมันกะเพรา ซึ่งมีคุณสมบัติไล่ยุงได้ดีกว่าต้นสดๆ
  • ป็นสมุนไพรไล่แมลงวันทอง
    • ใช้น้ำมันที่กลั่นจากใบสด ตามความเหมาะสม น้ำมันหอมระเหยนี้ไปล่อแมลง จะทำให้แมลงวันทองบินมาตอมน้ำมันนี้

สารเคมี

ในใบพบ Apigenin, Ocimol, Linalool , Essential Oil, Chavibetal

” ขิง “
 ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Zingiber officinale  Roscoe
ชื่อสามัญ :   Ginger
วงศ์ :   Zingiberaceae
ชื่ออื่น :  ขิงแกลง ขิงแดง (จันทบุรี) ขิงเผือก (เชียงใหม่) สะเอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ขิง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวล มีกลิ่นเฉพาะ จะแทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน  ดอก ออกเป็นช่อ แทงออกจากเหง้าใต้ดิน ใบประดับเรียงเวียนสลับสีเขียวอ่อน ดอกสีเหลืองแกมเขียว ผล เป็นผลแห้ง ทรงกลม ขนาดประมาณ 1 ซม. เป็น 3 พู เมล็ดหลายเมล็ด

ส่วนที่ใช้ :  เหง้าแก่สด  ต้น  ใบ  ดอก  ผล

สรรพคุณ

  • เหง้าแก่สด
    • ยาแก้อาเจียน
    • ยาขมเจริญอาหาร
    • ยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
    • แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงธาตุ
    • สามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียดได้ดี
    • มีฤทธิ์ในการขับน้ำดี เพื่อย่อยอาหาร
    • แก้ปากคอเปื่อย แก้ท้องผูก
    • ลดความดันโลหิต
  • ต้น – ขับผายลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้นิ่ว บำรุงไฟธาตุ แก้คอเปื่อย ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา แก้บิด แก้ลมป่วง แก้ท้องร่วงอย่างแรง แก้อาเจียน
  • ใบ – แก้โรคกำเดา ขับผายลม แก้นิ่วแก้เบาขัด แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ฆ่าพยาธิ แก้โรคตา  ขับลมในลำไส้
  • ดอก – ทำให้ชุ่มชื่น แก้โรคตาแฉะ ฆ่าพยาธิ ช่วยย่อยอาหาร แก้คอเปื่อย บำรุงไฟธาตุ  แก้นิ่ว แก้เบาขัด แก้บิด
  • ผล – แก้ไข้

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • ยาแก้อาเจียน
    ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม
    นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม
  • ยาขมเจริญอาหาร
    ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม
    ผงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ
  • แก้อาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดและปวดท้อง
  • น้ำกระสายขิง น้ำขิง 30 กรัม มาชงด้วยน้ำเดือด 500 ซีซี ชงแช่ไว้นาน 1 ชั่วโมง กรองรับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ใช้ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย
  • ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ
  • ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม
  • แก้ไอและขับเสมหะ
    ใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือ ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
  • ลดความดันโลหิต
    ใช้ขิงสดเอามาฝานต้มกับน้ำรับประทาน

สารเคมี

  • เหง้า พบ  Gingerol Zingiberene, Zingiberone Zingiberonol, Shogoal, Fenchone, Camphene Cineol Citronellol
  • ในน้ำมันหอมระเหย พบสาร Bisabolene, Zingiberone Zingiberol, Zingiberene, Limonene, Citronellol Gingerol, Camphene, Borneol, Cineol
  • ทั้งต้น พบ 5 – (1) – 6 – Gingerol
  • ใบ  พบ Shikimic acid

” ปีกแมลงสาบ หรือ ก้ามปูหลุด “
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Tradescantia zebrina  Loudon  ( Zebrina pendula  Schnizl.)
วงศ์ :   Commelinaceae
ชื่ออื่น :  ก้ามปูหลุด (กรุงเทพฯ)

ปีกแมลงสาบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก แตกแขนงมาก ลำต้นทอดราบไปตามพื้นและชูส่วนปลายกิ่งสูง 10-30 ซม. ลำต้นอวบสีเขียวหรือเขียวประม่วงจนถึงม่วงลายเขียว มีข้อและปล้องชัด ใบเดี่ยว เรียงสลับ กาบใบเป็นปลอกหุ้มรอบข้อสูงประมาณ 1 ซม. ที่กาบใบมีลายเส้นสีม่วงเป็นแนวตามความยาวและมีขน ใบรูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. ปลายแหลม โคนมน เบี้ยว ขอบเรียบ สีม่วงและมีขนประปราย เส้นกลางใบสีม่วง แผ่นใบด้านบนสีเขียวสลับแถบสีเงินและประสีม่วง ด้านล่างสีม่วงหรือม่วงสลับเขียว ช่อดอกสั้น ออกที่ยอด มีใบประดับใหญ่ 2 ใบ ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันประกบหุ้มช่อดอกอ่อนไว้ ดอกจะทยอยบานโผล่เหนือใบประดับ ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 1 ซม. ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงสีขาว บาง โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 4 มม. ปลายแยกเป็น 2 แฉก มีขน กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดเรียวสีขาว ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ 3 กลีบ กว้าง 4-5 มม. ยาว 6-8 มม. กลีบด้านบนสีม่วง ด้านล่างสีขาว เกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูสีขาว มีขนยาวสีม่วง อับเรณูสีนวล รังไข่เล็ก ก้านเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก ผลเล็กมาก

ส่วนที่ใช้ : เก็บทั้งต้นสด ล้างสะอาด หรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้

สรรพคุณ

ทั้งต้นรสชุ่ม เย็นจัด มีพิษ ใช้แก้อาเจียนเป็นโลหิต หนองใน ตกขาว บิด ฝีอักเสบ สตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทาน ก้านและใบมี Calcium oxalate, Gum

วิธีและปริมาณที่ใช้
ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 15- 30 กรัม (สดใช้ 60- 90 กรัม ) ต้มกับน้ำดื่มหรือคั้นเอาน้ำดื่ม

  • แก้ไอเป็นเลือด
    ใช้ต้นสด 60- 90 กรัม ต้มกับปอดหมูหนัก 120 กรัม ผสมน้ำต้มให้เหลือ 1 ชาม ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  • แก้โรคหนองใน
    ใช้ต้นสด 60- 120 กรัม ใส่น้ำต้มให้เหลือ 1 ถ้วย ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  • แก้สตรีมีตกขาวมาก
    ใช้ต้นสด 60- 120 กรัม น้ำตาลกรวด 30 กรัม  ต่าฉ่าย (Mytilum crassitesta Lischke) 30 กรัม  ผสมน้ำต้มให้เหลือครึ่งชาม ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง
  • แก้บิดเรื้อรัง
    ใช้กาบหุ้มดอกสดหนัก 150 กรัม  ข้าวสารคั่วจนเกรียม (เริ่มไหม้) 30 กรัม ต้มน้ำแบ่งดื่มเป็น 3 ครั้ง

” มะกล่ำต้น”
 ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Adenanthera pavonina  L.
ชื่อสามัญ :   Red Wood, Coral Woood
วงศ์ :   Mimosaceae
ชื่ออื่น :  มะโหกแดง (ภาคเหนือ) มะหัวแดง มะแดง มะก้ำต้น มะกล่ำตาช้าง ไฟ (ใต้) ปี้จั่น

มะกล่ำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดกลาง ใบ เป็นใบประกอบซ้อน มีใบย่อย 3-4 คู่ ใบย่อยเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 5-9 คู่ รูปกลมรีเสมอกันทั้งใบ ขนาดเท่าหัวแม่มือ สีเขียวเข้ม มักออกที่ปลายกิ่ง ดอก ออกช่อสีเหลือง ผล กลมยาวบิด เมื่อแก่แตกออกเห็นเมล็ดสีแดงสดกลมแป้น มีชนิดเมล็ดเล็กและชนิดโต
ส่วนที่ใช้ :  ราก เมล็ด ใบ

สรรพคุณ

  • ราก –  รสเปรี้ยวเล็กน้อย แก้ทางเสมหะ แก้ร้อนใน แก้อาเจียน แก้หืดไอ และพิษฝี
  • เมล็ด, ใบ – แก้ริดสีดวงทวารหนัก
  • เมล็ดใน – เป็นยาเบื่อพยาธิ และเบื่อไส้เดือนได้ดี ถ้าผสมกับยาอื่นที่ทำให้ระบายด้วยแล้ว ก็จะได้ประโยชน์ทั้งเบื่อไส้เดือน และระบายออกมาด้วย

ขอบคุณที่มาจาก : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ขอบคุณภาพจาก : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

туры на килеманджаро

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : สมุนไพร แก้อาเจียน