ปิดเมนู
หน้าแรก

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อดูแลลูกตามลำพัง

เปิดอ่าน 152 views

“พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อดูแลลูกตามลำพัง

Tonkit360

สนับสนุนเนื้อหา

เมื่อวันหนึ่ง “ครอบครัว” ไม่เป็นดังที่ฝันไว้ จำต้องยุติบทบาทของความเป็นสามี ภรรยา อาจเพราะหย่าร้าง หรือฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใดเสียชีวิตลง ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้า เหลือเพียงพ่อกับลูก หรือแม่กับลูก กลายเป็นคุณพ่อหรือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องประคับประคองลูกตามลำพัง

เมื่อต้องอยู่สภาพนี้ คุณแม่คงไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกมากนัก เพราะส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่กับลูก แต่คุณพ่อนี่สิคงต้องปรับตัวอยู่พักใหญ่ และวันนี้ Tonkit360 อาสาพาไปดูกันว่า เวลาที่ “คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว” (Single Dad) ต้องดูแลลูกตามลำพัง ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

พูดความจริงกับลูก

คุณไม่ควรปิดบังความจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง เพื่อรักษาความรู้สึกของลูก ดังนั้น คุณควรอธิบายความจริงด้วยคำตอบง่าย ๆ ให้ลูกเข้าใจว่า เหตุใดครอบครัวของคุณเหลือเพียงพ่อกับลูก พร้อมย้ำว่า การที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกันนั้น มาจากการตัดสินใจของพ่อแม่เอง ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกระทำของลูกแต่อย่างใด ทั้งนี้ การพูดความจริง ไม่ควรตำหนิใครคนใดคนหนึ่งว่า “ไม่ดี” เช่นกัน

สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณและลูกให้แน่นแฟ้น

ด้วยการใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น เพราะแท้จริงแล้วความผูกพันมิได้เกิดจากการสัญชาตญาณของความเป็นแม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครที่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากที่สุดเท่านั้น หรือจะลองมองหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับลูกได้ อาทิ เล่านิทานก่อนนอน เล่นเกม เล่นกีฬา ปลูกต้นไม้ หรือช่วยกันทำอาหาร

เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารระหว่างคุณและลูก

นอกจากวิธีทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว คุณอาจคอยถามว่า แต่ละวันลูกได้ทำหรือเจอเรื่องอะไรมาบ้าง เพื่อที่คุณได้อธิบายและคอยช่วยเหลือเมื่อลูกมีปัญหา ที่สำคัญคุณไม่ควรปฏิเสธหรือแสดงอาการหงุดหงิด เมื่อลูกต้องการคุยกับคุณ

ทั้งยังควรพยายามกระตุ้นให้ลูกกล้าที่จะเข้ามาคุยกับคุณ ในเวลาที่เขา/เธอมีเรื่องไม่สบายใจ อาทิ เรื่องความรัก การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย หรือการกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

อย่ายอมแพ้ เมื่อลูกพยายามถอยตัวออกห่าง

อาจเป็นเพราะความผูกพันของผู้เป็นพ่อที่ไม่ค่อยได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้บางครั้งลูกพยายามถอยตัวออกห่างทุกครั้งที่คุณพยายามเข้ามา หากเป็นเช่นนี้ ขอให้คุณอย่ายอมแพ้ พยายามเข้าไปคุยกับลูกใหม่ หรืออาจบอกกับลูกก็ได้ว่า “คุณจะยืนอยู่ตรงนี้เสมอ หากลูกมีเรื่องอยากคุย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรคุณก็ยินดีรับฟัง”

เปลี่ยนตัวเองให้เป็น “นักฟัง” ที่ดี มากกว่าเป็น “นักพูด”

การพยายามเป็นนักฟังที่ดี มีประโยชน์ต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคุณมากเมื่อต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว (Single Dad)  จะทำให้คุณสามารถรับมือกับเรื่อง/ปัญหาที่ลูกต้องการคุยด้วย แต่คุณต้องฟังเรื่องราวของเขา/เธอให้จบเสียก่อน เพราะบางครั้งลูกของคุณอาจไม่ได้ต้องการคำแนะนำ แต่อาจแค่อยากคุยกับใครซักคนที่เขา/เธอไว้ใจ และพร้อมจะรับฟังเท่านั้น

สร้างความมั่นใจให้แก่ลูก

เด็กที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวนั้น อาจมีบางคนที่เกิดความรู้สึกวิตกกังวลว่า การที่ครอบครัวเหลือเพียงพ่อกับลูกนั้น ชีวิตความเป็นอยู่อาจแย่ลง ทั้งเรื่องที่พักอาศัย อาหารการกิน สำหรับเรื่องนี้คุณอาจสร้างความมั่นใจให้ลูกง่าย ๆ ด้วยการพูดคุยว่า หลังที่ต้องใช้ชีวิตกันเพียงลำพังคุณวางแผนอะไรไว้บ้าง

พยายามเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูก

การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูก นอกจากเป็นการแสดงความใส่ใจในรูปแบบหนึ่งแล้ว คุณจะรู้ว่า วัน ๆ หนึ่งลูกไปเจออะไรมาบ้าง และช่วยให้คุณรู้จักลูกมากขึ้นในฐานะคน ๆ หนึ่ง อาทิ หากลูกอยู่ในวงดนตรี คุณควรไปดูลูกซ้อมหรือแสดง เป็นต้น นอกจากนี้ คุณควรรู้จักเพื่อนของลูกด้วย ทั้งที่เป็นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมชั้น หรือเพื่อนที่ทำกิจกรรมด้วยกัน

ปล่อยให้ลูกมีพื้นที่ส่วนตัว

เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เป็นพ่อมักอยากจะปกป้องลูก แต่การปกป้องลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกของคุณพยายามตีตัวออกห่างก็ได้ ดังนั้น การปล่อยให้ลูกของคุณมีอิสระ มีโอกาสได้ตัดสินใจเลือกเอง จะทำให้เขา/เธอรู้ว่า สิ่งที่ตนเลือกนั้น มีผลดี ผลเสียกับตนอย่างไรบ้าง และบางครั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จะทำให้เขา/เธอ ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองเช่นกัน

กำหนดขอบเขตระหว่างคุณกับลูก

ไม่ใช่แค่ “ผู้เป็นลูก” เท่านั้นที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัว แม้แต่คุณซึ่งเป็นพ่อก็ต้องการความเป็นส่วนตัวเช่นกัน ฉะนั้น คุณควรคุยกับลูกให้เข้าใจและรับรู้ว่า ช่วงใดที่คุณต้องการความเป็นส่วนตัวสำหรับตัวเองบ้าง

สิ่งที่เรานำมาฝาก อาจไม่ใช่คำแนะนำที่ดีที่สุด แต่เชื่อว่า บางเรื่องหากคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อาจช่วยทำให้ครอบครัวของคุณอบอุ่น แม้วันนี้จะเหลือเพียงครึ่ง

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อดูแลลูกตามลำพัง