ปิดเมนู
หน้าแรก

ตระกูล “เจียรวนนท์” รวยแค่ไหน?

เปิดอ่าน 218 views

ตระกูล “เจียรวนนท์” รวยแค่ไหน?

Workpoint TV

สนับสนุนเนื้อหา

“ตระกูลเจียรวนนท์ เป็นหนึ่งในตระกูลที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในประเทศ

ไม่เพียงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจแสนล้านของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ที่คุ้นเคยในประเทศไทย แต่ยังเป็นเพราะเกือบ 10 ปีในการจัดอันดับ “มหาเศรษฐีในประเทศไทย” ของนิตยสารชื่อดังระดับโลกอย่าง “ฟอร์บส์” ที่ได้จัดชั้นให้ “เจ้าสัวธนินท์” และ “ตระกูลเจียรวนนท์” ครองแชมป์มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ในการจัดอันดับล่าสุดของฟอร์บส์ “50 มหาเศรษฐีของประเทศไทย” ที่ได้ประกาศล่าสุด เมื่อกลางปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน ตระกูลเจียรวนนท์ ยังครองการเป็นอันดับ 1 ของตระกูลที่รวยที่สุด โดยในการเปิดเผยข้อมูลของฟอร์บส์ระบุว่า ทรัพย์สินของตระกูลนี้อยู่ในระดับหลายแสนล้านบาท

หากนับย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ ตระกูลเจียรวนนท์ ล้มแชมป์เศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศอย่าง ตระกูลอยู่วิทยา เจ้าของธุรกิจแบรนด์เครื่องดื่ม “กระทิงแดง” แบรนด์ระดับโลก เป็นต้นมา

ยังไม่เคยมีใครล้มแชมป์ตระกูลเจียรวนนท์ได้อีกเลย

และเป็นที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร และผ่านมากี่รัฐบาล “ความร่ำรวย” ของตระกูลเจียรวนนท์ ยังคงเส้นคงวาและเติบโตแบบก้าวกระโดด

จากการสำรวจข้อมูลย้อนหลังกลับไป 10 ปี นับจากปี 2551 จนถึงปี 2561 พบว่า ในปี 2561 ตระกูลเจียรวนนท์ มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนับ 10 เท่า โดยการถือครองทรัพย์สินรวม 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 9.37 แสนล้านบาท จากปี 2551 ที่ถือครองทรัพย์สินอยู่ที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ และตระกูลเจียรวนนท์ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังได้รับการจัดอันดับให้รวยเป็นที่ 2 เป็นรองเพียงตระกูลซัมซุงในเอเชีย

นักวิเคราะห์ทางการเงิน เคยระบุไว้ว่า เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ตระกูลเจียรวนนท์ยังสามารถครองความเป็นมหาเศรษฐีที่ 1 ในไทยที่ผ่านมานั้น มาจากแรงหนุนของราคาหุ้นสำคัญหลายๆตัว ที่เครือซีพีถือครอง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในประเทศไทย และที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดฯ ต่างประเทศ รวมไปถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจของอาณาจักรซีพี

สำรวจเฉพาะบริษัทหลักๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ในบริษัทสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี ได้แก่

  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักของซีพี ในกลุ่มธุรกิจเกษตรและอาหาร ซึ่งประกอบธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ เลี้ยงเนื้อสัตว์เพื่อการค้า แปรรูป อาหารสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ซีพี และอื่นๆ ในปี 2560 มีรายได้ 523,179.98 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,532 ล้านบาท
  • บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ทำธุรกิจหลักคือธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น จบปี 2560 มีรายได้ 489,403.25 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19,907.71 ล้านบาท
  • บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลักห้างแม็คโคร ในปี 2560 มีรายได้รวม 186,754.02 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,178.13 ล้านบาท
  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ฯลฯ ปี 2560 มีรายได้รวม 147,602.80 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,322.53 ล้านบาท

ขณะที่ในต่างประเทศ กลุ่มบริษัทสำคัญที่ได้รับการจับตาในฐานะบริษัทที่สร้างรายได้หลักให้กับเครือซีพีในปัจจุบัน คือ กลุ่มบริษัท ผิง อัน (PING AN) ที่ซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ให้บริการทางการเงินทุกชนิด ตั้งแต่ธนาคารไปจนถึงการลงทุนธุรกิจหลักครึ่งหนึ่งอยู่ในธุรกิจประกันชีวิต รองลงมาอยู่ในธุรกิจประกันภัย ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจหลักทรัพย์ โดยเครือซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ได้เข้าไปซื้อหุ้น ผิง อัน มาตั้งแต่ปี 2556 จาก HSBC เป็นมูลค่าสูงถึง 2.9 แสนล้านบาท นับเป็นดีลประวัติศาสตร์ในการซื้อหุ้นของจีนที่มากที่สุดโดยบริษัทต่างชาติในเวลานั้น

ธุรกิจของ ผิง อัน นั้น เติบโตอย่างก้าวกระโดดตามการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในเวลาหลายปีที่ผ่านมา จบปี 2560 ผิง อัน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 43% เป็น4.65 แสนล้านบาท และเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึง 5.98 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2561) และอาจจะนับได้ว่าเป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนให้กับเครือซีพีมากกว่าบริษัทหลักซึ่งจดทะเบียนในไทย อย่าง ซีพีเอฟ ซีพี ออลล์ และ ทรู รวมกัน

การประเมินรายได้รวมของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในแต่ละปี ทั้งในและต่างประเทศ แตะระดับหลายล้านล้านบาท จากธุรกิจหลัก 8 ธุรกิจหลัก ได้แก่

  1. การเกษตรและอาหาร
  2. ธุรกิจค้าปลีก
  3. การสื่อสารและโทรคมนาคม
  4. อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล
  5. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
  6. ธุรกิจยานยนต์
  7. ธุรกิจเวชภัณฑ์
  8. การเงินและการธนาคาร

เชื่อกันว่าในอนาคตจะยิ่งมากขึ้นและมากขึ้น จนยากที่จะมีใครมาล้มแชมป์การเป็น ตระกูลมหาเศรษฐีอันดับ 1 ในประเทศไทย

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ตระกูล “เจียรวนนท์” รวยแค่ไหน?