ปิดเมนู
หน้าแรก

ข้อควรรู้หลังจดทะเบียนสมรสว่าด้วยเรื่องของสินสมรสที่ภรรยาพึงได้

เปิดอ่าน 261 views

ข้อควรรู้หลังจดทะเบียนสมรสว่าด้วยเรื่องของสินสมรสที่ภรรยาพึงได้

ข้อควรรู้หลังจดทะเบียนสมรสว่าด้วยเรื่องของสินสมรสที่ภรรยาพึงได้ เกี่ยวกับ ข้อควรรู้หลังจดทะเบียนสมรส

HappyWedding

สนับสนุนเนื้อหา

การที่ชาย หญิง 2 คน ตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาซึ่ง ตามกฏหมาย ปัจจุบันนั้น กําหนดว่า การสมรส หรือการแต่งงานต้องมีการจดทะเบียนสมรส จึงจะมีผลตามกฏหมาย ดังนั้น ถ้าไม่มีการจดทะเบียนสมรส  แม้จะมีการจัดงานพิธีสมรสใหญ่โตเพียงใด กฏหมายก็ไม่ถือว่า ชายหญิงคู่นั้นได้ทําการสมรสกันเลย ซึ่งการจดทะเบียนสมรสนั้นจะจดก่อนการจัดงานแต่งงาน หรือหลังจัดงานแต่งงานก็ได้ และเมื่อจดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้วในเรื่องของสินสมรสนั้นการจดทะเบียนสมรสในแง่กฎหมาย หมายถึงว่า ทันทีที่คุณจรดปากกาลงไปแล้ว นับตั้งแต่วันนั้น มีทรัพย์สินใดงอกขึ้นมา มันจะกลายเป็นสินสมรสทั้งหมด เอาเป็นว่า Happy Wedding.Lifeจะพาไปทำความเข้าใจกับเรื่อง สินสมรส กันค่ะ

การจัดงานแต่งงาน จัดเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตคู่อีกหนึ่งเรื่องก็ว่าได้ ที่กว่าจะประกาศให้ทุกคนรู้ เชื่อว่าคนสองคนต้องใช้เวลาเรียนรู้กันผ่านระยะเวลามาพอสมควร และเมื่อแต่งงานกันแล้ว ทรัพย์สินจะถูกจัดสรรเป็นส่วน คือ

1. ส่วนที่เป็นสินสมรส คือ เป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน มีส่วนแบ่งกันคนละครึ่งกับ

2. ส่วนที่เป็นสินส่วนตัว คือ เป็นทรัพย์สินของใครของมัน ไม่กระเด็นไปยังภรรยาหรือสามี

แต่อาจจะสับสนบ้างว่า อย่างไหนที่จะส่วนตัว อย่างไหนที่จะร่วมกันเป็นเจ้าของตามกฎหมาย

 

สามี ภรรยากับสิทธิในสินสมรส

การสมรสหรืการแต่งงานเมื่อมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายหลังจากงานแต่งงาน สามี-ภรรยาจะมีความสัมพันธ์ในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส โดยสามี-ภรรยาเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน สามี-ภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีการจัดการสินสมรสที่สำคัญ ๆ เช่น

– ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

– ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

– ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป

อย่างไรก็ตามสามี-ภรรยา สามารถแยกกันจัดการสินสมรสได้ 4 กรณี ดังนี้

1. เมื่อคู่สมรสตกลงแยกกันจัดการสินสมรส โดยการทำสัญญาก่อนสมรสไว้ก่อน

2. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตกเป็นคนไร้ความสามารถ อีกฝ่ายมีสิทธิ์ร้องขอให้ศาลแยกสินสมรสได้

3. เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จะมีผลให้สินสมรสแยกกันตามกฎหมาย

4. เมื่อมีการร้องขอต่อศาลให้แยกสินสมรส เพราะสาเหตุ เช่น อีกฝ่ายทำความเสียหายแก่สินสมรส ไม่อุปการะ เลี้ยงดู เป็นหนี้สินมากมาย หรือขัดขวางการจัดการสินสมรสโดยไม่มีเหตุอันควรและเมื่อมีการแยกสินสมรสออกจากกันแล้ว สินสมรสส่วนที่แยกออกมาจะถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย รวมถึงทรัพย์สิน เช่น มรดกดอกผลที่ได้มาหลังการแยกสินสมรสด้วย

 

 

ด้านสินส่วนตัว กฎหมายถือว่าสินส่วนตัวของใครคนนั้นก็เป็นผู้มีอํานาจจัดการ โดยหมายถึง

– ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

– ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งตัว หรือเครื่องประดับตามฐานะที่เป็นอยู่ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพของคู่ฝ่ายสมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

– ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาในระหว่างที่สมรสกันโดยการรับมรดก หรือโดยการให้ด้วยเสน่หา

– ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น

การนำทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว ไปแลกเปลี่ยนได้เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น หรือนำสินส่วนตัวไปซื้อทรัพย์สินอย่างอื่น หรือขายสินส่วนตัวได้เป็นเงิน หรือกรณีที่สินส่วนตัวได้ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือบางส่วน และเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาทดแทนในกรณีดังกล่าว สินส่วนตัวที่ได้แลกเปลี่ยน หรือซื้อเป็นทรัพย์สินอื่น หรือขายได้เป็นเงิน รวมทั้งเงินทดแทนหรือทรัพย์สินอื่นที่ได้มาทดแทนนั้น ย่อมเป็นสินส่วนตัวด้วย

นอกจากเรื่องของสินสมรส หลังจากการจัดงานแต่งงาน และสินส่วนตัวแล้ว ยังมีเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่บ่าวสาวจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ดังนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และบุตร

เด็กที่เกิดมาในระหว่างที่พ่อแม่ ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่ การสมรส สิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  

 สิทธิหน้าที่ระหว่างบิดามารดา และบุตรชอบด้วยกฎหมาย    

1. พ่อแม่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรตามสมควร ในระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์) ถ้าบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว พ่อแม่ก็ไม่จําเป็นต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร เว้นแต่บุตรจะเป็นคนพิการ และหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป      

2. บุตรจําต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่  

3. บุตรมีสิทธิใช้นามสกุลของพ่อ

4. บุตรจะฟ้องบุพการีของตน เป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาไม่ได้ แต่สามารถร้องขอให้อัยการเป็นผู้ดําเนินคดี แทนได้ กฎหมายห้ามเฉพาะการฟ้องแต่ไม่ห้ามในกรณีที่บุตรถูกฟ้องแล้วต่อสู้คดี กรณีนี้ย่อมทําได้        

5. บุตรผู้เยาว์จะต้องอยู่ภายใต้อํานาจปกครองของพ่อแม่โดยพ่อแม่มีอํานาจ ดังนี้        

– กําหนดที่อยู่ของบุตร            

– เมื่อบุตรทําผิดก็ลงโทษได้ตามสมควร                  

– ให้บุตรทํางานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป                  

– เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่น ซึ่งกักบุตรของตนไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย                  

– มีอํานาจจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วยความระมัดระวัง

ก่อนจะจูงมือกันไปจกทะเบียนสมรส กันก่อนจะจัดงานแต่งงาน หรือหลังจัดงานแต่งงาน ก็ควรที่จะศึกษาเรื่องของสินสมรส และสินส่วนตัวเอาไว้ด้วยนอกจากจะศึกษาเรื่องของการจดทะเบียนสมรสอย่างเดียวค่ะ

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ข้อควรรู้หลังจดทะเบียนสมรสว่าด้วยเรื่องของสินสมรสที่ภรรยาพึงได้