ปิดเมนู
หน้าแรก

ขั้นตอนการรักษาอาการ “นอนกรน” โดยวิธีไม่ผ่าตัด

เปิดอ่าน 115 views

ขั้นตอนการรักษาอาการ “นอนกรน” โดยวิธีไม่ผ่าตัด

รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หลังจากผู้ป่วยรับการตรวจรักษาอาการนอนกรนโดยแพทย์แล้ว แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับการตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อแยกว่าเป็น กรนธรรมดา หรือกรนอันตราย และถ้าเป็นกรนอันตราย การตรวจการนอนหลับจะบอกความรุนแรงของกรนอันตราย ได้ว่ารุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการตรวจ และได้รับผลการตรวจ ผู้ป่วยควรทำอย่างไรระหว่างรอตรวจ และรอผลการตรวจการนอนหลับ

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก ในรายที่มีน้ำหนักเกิน, หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง โดยเฉพาะก่อนนอน, หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่, นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ และควรนอนตะแคง   

หลังจากนั้น จะมีขั้นตอนต่อไปนี้

  1. แพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกไปใช้วันละครั้งก่อนนอน โดยพ่นยาเข้าไปในโพรงจมูกข้างละ 2 ครั้ง (ตามคำแนะนำในการพ่นยาในจมูก)  ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังจะช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกจะออกฤทธิ์ในการลดเสียงกรน และลดอาการผิดปกติต่างๆ ของอาการนอนกรนเต็มที่ใช้เวลา 2 สัปดาห์  

    ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ญาติ หรือคนใกล้ชิด สังเกตความดังของเสียงกรนและอาการผิดปกติ เวลานอน ก่อนพ่นยาในจมูก และหลังจากพ่นยาในจมูกแล้ว 2 สัปดาห์ รวมทั้งตัวผู้ป่วยเอง ควรสังเกตอาการต่างๆที่ผิดปกติก่อนพ่นยาในจมูก และหลังพ่นยาในจมูกแล้ว 2 สัปดาห์ด้วย เพื่อบอกผลการรักษาโดยใช้ยาพ่นจมูกแก่แพทย์ผู้รักษา ถ้าเสียงกรนลดลงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และอาการผิดปกติอื่นดีขึ้นมาก แนะนำให้ใช้ยาพ่นในจมูกต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับการตรวจการนอนหลับ  การใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกเป็นระยะเวลานาน  ถ้าพ่นจมูกด้วยวิธีที่ถูกต้อง จะไม่เกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงใดๆ

  2. ถ้าพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกแล้ว2 สัปดาห์  เสียงกรนไม่ลดลงหรือลดลงเพียงเล็กน้อย หรืออาการต่างๆ ที่ผิดปกติดีขึ้นเล็กน้อยหรือไม่ดีขึ้นเลย อาจทดลองใช้เครื่องเป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ฟรี  จากตัวแทนจำหน่ายที่แพทย์ให้เบอร์ติดต่อไว้  เครื่องมือนี้เป็นการนำหน้ากากครอบจมูก และ/ หรือปากขณะนอนหลับ  ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา  ลมที่ขับออกมาขณะนอนหลับจะช่วยค้ำยัน ไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า โดยเลือกใช้ CPAP ที่ปรับระดับความดันได้อัตโนมัติ (auto CPAP) เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แล้วลองสังเกตเสียงกรน และอาการต่างๆ ที่ผิดปกติเวลานอนว่าเสียงกรน หรือาการผิดปกติต่างๆ ลดลงหรือไม่   

      ถ้าลดลงและคิดว่าจะใช้ได้ไปตลอด และจำเป็นที่ต้องรักษาโดยรีบด่วน ก่อนรับการตรวจการนอนหลับ  อาจพิจารณาซื้อเครื่องมาใช้ก่อนได้ และมาพบแพทย์เมื่อได้ผลการตรวจการนอนหลับแล้ว   

      ถ้าลดลง แต่อยากจะรอจนกว่าได้ผลการตรวจการนอนหลับก่อน ค่อยตัดสินใจก็ได้ แต่ควรบอกแพทย์ถึงประสบการณ์การทดลองใช้เครื่องเป่าลมว่าเป็นอย่างไรบ้าง ในกรณีได้ทดลองใช้เครื่องแล้ว

  1. ถ้าพ่นยาสเตียรอยด์ในจมูกแล้ว2 สัปดาห์ เสียงกรนไม่ลดลง หรือลดลงเพียงเล็กน้อย หรืออาการต่างๆ ที่ผิดปกติดีขึ้นเล็กน้อย หรือไม่ดีขึ้นเลย และไม่อยากทดลองใช้เครื่อง CPAP หรือทดลองใช้เครื่อง CPAP แล้ว แต่ไม่อยากจะใช้ CPAP  อาจปรึกษาทันตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการรักษาอาการนอนกรน ด้วยวิธีทางทันตกรรมก่อนล่วงหน้าได้ถึงเครื่องมือ และค่าใช้จ่ายในการรักษาเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ หลังทราบผลการตรวจการนอนหลับแล้ว

 

เมื่อได้รับผลการตรวจการนอนหลับแล้วจึงกลับมาพบแพทย์ เพื่อทราบถึงผล และแนวทางในการรักษาต่อไป

 

 

___________________

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : ขั้นตอนการรักษาอาการ “นอนกรน” โดยวิธีไม่ผ่าตัด