ปิดเมนู
หน้าแรก

“กีฬา” กับ “กาแฟ” ความสัมพันธ์ที่เราควรรู้

เปิดอ่าน 502 views

“กีฬา” กับ “กาแฟ” ความสัมพันธ์ที่เราควรรู้

ปัจจุบันร้านกาแฟผุดขึ้นพอๆ กับร้านสะดวกซื้อเลยทีเดียว หลายคนที่รู้สึกซึมกระทือในช่วงเช้า พอได้ดื่มกาแฟแก้วแรกของวันอาการก็พลันมลายหายเป็นปลิดทิ้ง หลายคนเสียเงินค่ากาแฟบางวันมากกว่าค่าข้าวเสียอีก บ้างก็บ่นว่าทำไมกาแฟช่างแพงอะไรอย่างนี้ แต่คล้อยหลังก็เดินเข้าร้านกาแฟตามเคย

ความชอบกาแฟของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องรสชาติ กลิ่น บรรยากาศ ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังก็คือ สารคาเฟอีนในกาแฟ ซึ่งคาเฟอีนนั้นไม่ได้มีแค่ในกาแฟเท่านั้น ยังมีอยู่ในเครื่องดื่มสารพัดชนิด เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ชา ชาเขียว เป็นต้น คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้รู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า นักกีฬาบางคนนอกจากดื่มกาแฟเพราะความชอบแล้ว อาจดื่มเพื่อหวังผลในการกระตุ้นสมรรถภาพทางกายเพื่อการแข่งขันกีฬาอีกด้วย

1. ดื่มแค่ไหน…กำลังดี

คำตอบคือดื่มในระดับน้อยถึงปานกลางก็พอแล้ว การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในแต่ละวันในปริมาณน้อย (1.1-3.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) ถึงปานกลาง (4-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) น่าจะไม่สร้างปัญหาให้กับสุขภาพ แต่ถ้าบอกปริมาณอย่างนี้อาจเข้าใจยาก เพราะปริมาณคาเฟอีนในกาแฟและเครื่องดื่มต่างๆ นั้นมีความหลากหลายมาก เอาง่ายๆ ว่าดื่มกาแฟสักวันละ 1-2 แก้วแล้วกัน

2. ดื่มมาก…สร้างปัญหา

การดื่มกาแฟมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการใจสั่น อันเป็นผลจากการที่คาเฟอีนเข้าไปกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงและเร็วมากขึ้น และยังทำให้ความดันโลหิตสูงมากขึ้น นอกจากนี้การดื่มกาแฟมากเกินไปจะทำให้สูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงซึ่งมีความเสี่ยงอยู่แล้วจากการขาดฮอร์โมนหลังหมดประจำเดือน หรือการผ่าตัดเอารังไข่ออก

การได้รับคาเฟอีนในระดับสูงยังอาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด วิตกกังวล ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย รวมทั้งการรบกวนการนอนคือทำให้นอนไม่หลับ จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนเข้านอน

3. กาแฟเคยเป็น…ยาโด๊ป

ในอดีตคาเฟอีนจัดอยู่ในประเภทของสารต้องห้ามทางการกีฬา หรือเรียกง่ายๆ ว่า “โด๊ป” แต่ทางวาดา (WADA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาได้ตัดคาเฟอีนออกจากรายการสารต้องห้ามตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ยังอยู่ในประเภทสารที่ยังติดตามปริมาณการใช้ กล่าวคือการตรวจโด๊ปในปัสสาวะของนักกีฬามีการวัดปริมาณของคาเฟอีนด้วย เพื่อดูพฤติกรรมการใช้คาเฟอีนของนักกีฬา แต่การตรวจพบก็ไม่ถือเป็นการโด๊ป

4. กาแฟ…ลดความอ้วน

จุดขายของคาเฟอีนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อ โดยเพิ่มการเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงาน และช่วยลดการใช้พลังงานจากสารไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ (Glycogen Sparing Effect) ซึ่งในนักกีฬาก็อาจหวังผลว่าจะช่วยให้เล่นกีฬาได้นานมากขึ้น ในคนที่หวังผลเรื่องลดความอ้วนก็อาจได้อานิสงส์ในประเด็นนี้ไป แต่ต้องออกกำลังกายด้วย ถึงจะมีการเผาผลาญไขมัน ไม่ใช่ดื่มกาแฟแล้วไปกินข้าวอีกหลายจานแล้วต่อด้วยการนอน อย่างไรก็ตามการตอบสนองของร่างกายของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน และต้องไม่ลืมว่าการดื่มมากเกินไปอาจเกิดผลเสียกับสุขภาพได้

5. คาเฟอีน…กับกีฬา

สูตรการใช้คาเฟอีนสำหรับนักกีฬาที่มีการใช้ต่อกันมาคือ ให้บริโภคคาเฟอีน 1 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน โดยถ้าจะให้ได้ผลมากขึ้นควรงดการบริโภคคาเฟอีนก่อนหน้านี้เป็นเวลา 1-2 วัน ส่วนปริมาณที่ใช้นั้นในอดีตมักใช้ค่อนข้างสูง คือ 6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่จากการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณการใช้แค่ 1-3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมก็น่าจะพอเพียงแล้ว อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อผลเสียของการได้รับคาเฟอีนมากเกินไป ส่วนการอดคาเฟอีนก่อนหน้านั้น 1-2 วัน ก็อาจไม่จำเป็น เพราะน่าจะเป็นผลทางจิตใจมากกว่า นอกจากนี้ในนักกีฬาอาจรู้สึกหงุดหงิดในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากการที่ไม่ได้บริโภคเครื่องดื่มที่ชื่นชอบ

สำหรับนักกีฬามีอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การดื่มกาแฟจะทำให้มีการสูญเสียน้ำทางปัสสาวะมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะใช่สำหรับคนที่ไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อนแล้วเพิ่งมาดื่มตอนจะแข่ง แต่สำหรับคนที่ดื่มเป็นประจำอยู่แล้วอาจไม่มีผลเสียในส่วนนี้เท่าไรนัก เพราะร่างกายปรับตัวได้อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าคิดจะดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนก็ควรใช้ปริมาณเดียวกันตั้งแต่ฝึกซ้อมเพื่อให้ร่างกายคุ้นเคย

สรุปว่า…ถ้าคุณชอบก็ดื่มไปเถอะ แต่อย่าเยอะ สำหรับนักกีฬา ถ้าใครมีความรักความชอบในกาแฟหรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน ก็สามารถมีความสุขกับการดื่มได้โดยไม่ถือว่าเป็นการโด๊ป ส่วนผลที่จะช่วยให้เล่นกีฬาได้ดีมากขึ้นนั้นคงแล้วแต่การตอบสนองของแต่ละคน และประเภทของกีฬาที่เล่น แต่อย่าลืมว่าควรบริโภคในขนาดที่เหมาะสมนะครับ

credit:

เรื่อง ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช

 Men’sHealth Thailand

แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่อง : “กีฬา” กับ “กาแฟ” ความสัมพันธ์ที่เราควรรู้